เพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft) ทำหน้าที่รับแรงกระทำที่ส่งมาจากก้านสูบ (Connecting rod) โดยเปลี่ยนจากแรงกำลังแนวขึ้น-ลง ของลูกสูบ มาเป็น แรงกำลังในแนวหมุนขับเคลื่อนเครื่องยนต์ เปรียบเสมือนกับ “กระดูกสันหลัง” ที่เชื่อมโยงระบบภายในของเครื่องยนต์ทั้งตัวเข้าด้วยกัน 


เพลาข้อเหวี่ยง มีแกนข้างหนึ่งโพล่ออกไปนอกเสื้อสูบ(ด้านหน้า) เพื่อยึดติดกับมู่เล่ย์เพลาข้อเหวี่ยง (มู่เล่ย์หน้า, Crankshaft pulley) ส่วนแกนอีกข้างหนึ่ง ก็โผล่ออกไปนอกเสื้อสูบ(ด้านท้าย) เพื่อยึดติดกับล้อช่วยแรง (มู่เล่ย์หลัง, Fly wheel)



ก้านสูบที่ยึดติดกับเพลาข้อเหวี่ยงนั้น จะมีแบริ่งประกบอยู่ระหว่างกลาง (หรือที่เรียกกันว่า “ชารป์”) ทำให้มีความลื่นในการเสียดสีกัน อีกทั้ง ยังมีน้ำมันหล่อลื่นช่วยลดแรงเสียดสีดังกล่าวด้วย การทำงานจึงราบรื่น และที่สำคัญ เพลาข้อเหวี่ยง จะมีเหล็กถ่วงดุลน้ำหนัก(มักเรียกกันว่า “ตับเป็ด”) อยู่บนแกนเดียวกัน เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลในเวลาที่ก้านสูบเหวี่ยงตัวขึ้น-ลง ตามลูกสูบซึ่งแรงเหวี่ยงนี้มีผลต่อรอบ (RPM, Round Per Minute) ของเครื่องยนต์ โดยเพลาข้อเหวี่ยงที่มีมวลเหล็กถ่วงมาก(ตับเป็ดหนาใหญ่) เป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เครื่องยนต์มีรอบที่จัดขึ้นตามไปด้วย