Clutch มีหน้าที่อะไรในรถคุณ

       

          เพื่อนๆ หลายคนอาจจะสงสัยกันใช่มั๊ยล่ะครับว่าไอ้เจ้าครัทช์แต่ง หรือ Racing Clutch ที่เค้าเรียกๆ กันเนี่ย มันสามารถใส่กับรถเดิมๆ ได้มั๊ย มันเป็นยังไง แล้วหน้าที่ของมันนั้นเป็นอย่างไร ก่อนอื่นเลยเราไปทำความรู้จักกันกับเจ้าชุดคลัทช์(Clutch) กันก่อนเลยครับ สำหรับชุดคลัทช์ นี้มันจะทำหน้าที่เป็นตัวตัด หรือต่อกำลัง ที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ในการเปลี่ยนเกียร์ โดยอาศัย ความฝืดระหว่างแผ่นคลัทช์ กับแผ่นกดคลัทช์ และล้อช่วยแรง หรือฟลายวีล(Fly Wheel)

 

ภาพไดอะแกรม(Diagram) ที่ตั้งและกลไกของ Clutch

 

คลัทช์(Clutch) ในรถยนต์เกียร์ธรรมดา หรือ M/T มี 2 ประเภท

  1. คลัทช์ที่ใช้สายสลิงควบคุม หรือดึงชุด Clutch แบบนี้จะอยู่ใกล้กับแป้น Clutch ใช้แรงเหยียบ Clutch มากจึงไม่เป็นที่นิยมในรถยนต์ที่ใช้งานทั่วไปบนท้องถนน
  2. คลัทช์ชนิดที่ใช้ระบบไฮดรอลิก(Hydraulic) ชุด Clutch จะอยู่ไกลจากแป้นเหยียบ จึงทำให้ใช้แรงเหยียบน้อยกว่าแบบแรก ระบบการทำงานคล้ายกับระบบเบรค(Brake system) ที่มีแม่ปั๊มเบรค(Master cylinder) กับตัวลูกปั๊มเบรค(Brake Wheel Cylinder)

 

ตัวอย่างระบบคลัทช์(Clutch) แบบไฮดรอลิก

 

รูปชิ้นส่วนในอุปกรณ์การตัดต่อชุดส่งกำลัง

 

ส่วนประกอบของระบบส่งกำลัง 

  1. ล้อช่วยแรง หรือฟลายวีล(Fly wheel) มีหน้าที่หมุนไปตามแรงเพลาข้อเหวี่ยง หน้าสัมผัสล้อช่วยแรงอีกด้านหนึ่ง จะสัมผัสกับแผ่นคลัทช์ และแรงสัมผัสนี้มีน้ำหนักมาก ในเวลาที่ล้อช่วยแรงหมุน แกนเพลาคลัทช์ในห้องเกียร์จะสามารถหมุนตามได้
  2. แผ่นคลัทช์ หรือ Clutch disc มีลักษณะเป็นวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของล้อช่วยแรง เรียกว่า ผ้าคลัทช์ หรือ Clutch Lining ทำมาจากวัสดุที่เป็นใยหิน และสารสังเคราะห์ คุณสมบัติเหนียว และทนทานต่อการเสียดทาน ฉาบอยู่ด้านหน้า และหลังจานคลัทช์
  3. แผ่นกดคลัทช์(Clutch Pressure Plate) หรือที่เรียกกันว่าหวีคลัทช์ จะประกบยึดอยู่กับฝาครอบคลัทช์ และล้อช่วยแรง ซึ่งจะทำงานเมื่อผู้ขับขี่ออกแรงเหยียบแป้นคลัทช์อยู่ในห้องโดยสาร แรงเหยียบจะถูกถ่ายทอดออกไปสู่ กระเดื่องกดแบริ่ง ที่มีแกนยื่นออกมานอกห้องคลัทช์ จากนั้นจะส่งแรงไปยังชุดกดแบริ่งที่ติดอยู่บนแกนเพลาคลัทช์ ตรงศูนย์กลาง ของแผ่น สปริงไดอะเฟรม
 

การทำงานของคลัทช์

         ขอขอบคุณ ภาพจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

         

           พอจะรู้การทำงานของคลัชกันบ้างแล้ว คราวนี้มาคุยกันต่อเลยว่ารถเดิมๆ ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันนี้สามารถใส่คลัทช์ซิ่งได้มั๊ย และต้องบอกก่อนนะครับว่า การทำงานของคลัทช์เดิมนั้นมีความนิ่มนวลมาก ทำให้เวลาเปลี่ยนเกียร์จะมีความสมูท และนิ่มนวลไม่กระชาก แต่มันจะฟรีทิ้งไปประมาณ 300-400 รอบที่ 1,000 รอบ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใส่คลัทช์ซิ่ง รอบที่เคยฟรีทิ้งไปก็จะได้กลับคืนมา แต่การเปลี่ยนเกียร์จะมีแรงกระชากมากขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งที่ได้มาเพิ่มคือความแข็งของแรงกดคลัชที่แข็งกว่าคลัทช์เดิม แต่ถ้าจะถามอีกว่าสรุปแล้วใส่ได้มั๊ยจริงๆ แล้วก็ใส่ได้นะแต่มันก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่ มีแต่จะทำให้ขับขี่ยากขึ้นกว่าเดิมมากเนื่องด้วย รอบเครื่องที่ยังคงเดิมแต่การจับของคลัทช์มันดีเกินไปจึงไม่สมูทกัน ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำให้ทำตรงส่วนอื่นก่อนดีกว่า จนรถมีแรงม้าแรงบิดมากขึ้นจนคลัชเดิมรับไม่ไหว จับไม่อยู่ แล้วจึงเปลี่ยนใหม่ดีกว่าครับ

วิธีในการเปลี่ยนคลัทช์ซิ่งเพื่อรองรับแรงม้าสูงๆ

 

 ชุดคลัทช์แบบ Single Plate

 

1.เปลี่ยนผ้าคลัทช์ใหม่ โดยมองหาผ้าคลัทช์ที่มีวัสดุส่วนผสมที่ดีกว่าที่ใช้อยู่ ส่วนมากมักจะนิยมทองแดงมาเป็นส่วนผสมให้มากขึ้น และจับตัวได้ดีกว่า หรือที่เรียกกันว่าผ้าทองแดงนั่นแหละครับ

 ชุดคลัทช์แบบ Twin Plate

 

2.เปลี่ยนชุดคลัทช์ให้ใหญ่ขึ้น โดยมองหาชุดคลัทช์ของรุ่นอื่นมาใส่แทน แต่มีขนาดที่โตกว่า แต่ต้องไม่โตกว่าฟลายวีลเดิม ที่ติดกับเครื่องยนต์ มาดัดแปลงเจียร์หน้า Fly Wheel ใหม่ เจาะรูยึดหวีครัทช์ เปลี่ยนเฟืองขับเกียร์ตรงกลางผ้าคลัทช์ให้สามารถสวมกับ เฟืองเกียร์ได้ แบบนี้ก็สามารถทำให้คลัทช์จับตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่ในการจับเกาะได้มาก บวกกับหวีคลัทช์ที่มีแรงกดที่สูงขึ้น

 

ชุดคลัทช์แบบ Triple Plate

 

3.เปลี่ยนสปริงกดคลัทช์ ที่หวีคลัทช์จะมีสปริงกดคลัทช์อยู่ระหว่าง จานกดคลัทช์กับโครงหวีคลัทช์ เป็นแผ่นเหล็กซ้อนกันอยู่ 2- 3 แผ่น หรือที่เรียกกันว่า ไม้ไอติม ตัวนี้จะเป็นตัวสร้างแรงกดให้กับจานกดคลัทช์ นิยมเสริมให้มากขึ้นเช่นจาก 2 เป็น 3 แผ่น หรือเปลี่ยนให้มีขนาดโตขึ้น สามารถสร้างแรงกดได้มากขึ้น

4. เสริมแผ่นเพลท(Plate) หรือตีนผี ตามปกติแล้วตีนผีของหวีคลัทช์ จะเป็นแผ่นสปริงที่สร้างแรงกดได้มาก แต่ยังไม่เพียงพอ นิยมที่จะเปลี่ยนแผ่นเพลทให้มีขนาดหนา สร้างแรงกดได้มากขึ้น หรือซ้อนแผ่นเพลทให้เป็นลักษณะ 2 ชั้น แบบนี้อาจเพิ่มแรงกดได้กว่าเท่าตัว แบบนี้ข้อเสียมักจะทำให้ต้องออกแรงเหยียบคลัทช์มากกว่าปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากในการขับขี่ และอาจต้องมีการเสริมก้ามปูให้แข็งแรงขึ้นเพราะอาจจะทำให้ก้ามปูหักได้      

          ปัจจุบันมีการผลิตคลัทช์แต่ง หรือคลัทช์ซิ่งมามากมายหลายสำนักและมีผ้าคลัทช์ ให้เลือกใช้หลายอย่างเช่น ผ้าคลัทช์ แบบใยสังเคราะห์(แบบคลัทช์เดิม), ผ้าแบบใยผสม(ใยสังเคราะห์ผสมกับเนื้อทองแดง) และผ้าแบบทองแดง ตัวนี้ก็มีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน สรุปถ้าเป็นรถแบบเดิมๆ อยากเปลี่ยนคลัทช์ใหม่แนะนำให้ใช้ผ้าคลัทช์แบบเดิมหรือแบบใยผสมก็พอแล้วครับ

ตัวอย่างคลัชแต่งยี่ห้อต่างๆ

 

คลัทช์ HKS 

 
คลัทช์ EXEDY

เครดิต www.boxzaracing.com