เมื่อรถเสียลากรถอย่างไรให้ถูกวิธี

รถเสียเป็นเรื่องที่ใครก็ไม่อยากเจอแต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่พ้น การลากรถอย่างถูกวิธี จะทำให้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ทั้งต่อตัวรถและคนขับ รวมถึงยังช่วยลดความเสียหายไม่ให้ถูกลุกลามมากขึ้นอีกด้วย

ในกรณีที่ใช้บริการของรถลากสาธารณะซึ่งมีให้บริการทั่วไป การตรวจสอบมีไม่มากไปกว่าการดูความแน่นหนาของจุดยึดของรถลาก รวมถึงการยกล้อให้ถูกกับระบบขับเคลื่อน ซึ่งในกรณีที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ควรยกล้อหน้าให้ลอยขึ้นและใช้ล้อหลังในการลาก เช่นเดียวกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ก็ควรยกล้อหลังขึ้น และใช้ล้อหน้าในการลาก เพราะล้อเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกับชุดเกียร์ จึงไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสมในน้ำมันเกียร์ในระหว่างที่มีการลาก

ส่วนในกรณีที่ใช้รถยนต์คันอื่นลากจูง ควรหาวัสดุที่ทนทานต่อแรงฉีกขาด เช่น เชือกหรือสายสำหรับลากรถด้านหนึ่งผูกเข้ากับท้ายรถที่ทำหน้าที่ลาก ไม่ควรผูกเชือกไว้กับกันชน แต่ควรผูกเชือกไว้กับส่วนที่แข็งแรงของชิ้นส่วนโครงสร้างรถ หรือผูกไว้กับโลหะเฉพาะที่ทำเป็นตะขอยึดเกี่ยวกับเชือกลากรถ และควรเว้นระยะห่างระหว่างรถลากและรถที่ถูกลาก ห่างกันประมาณ 5 เมตร ช่วงกลางของเชือกที่ลากจะต้องใช้ผ้าสีแดงหรือธงสีแดงผูกแสดงไว้ เพื่อเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน รวมถึงท้ายรถของคันที่ถูกลาก ควรเปิดไฟฉุกเฉินและใช้กระดาษแข็งขนาดใหญ่พอสมควรเขียนคำว่า “รถลาก” แปะไว้ด้านท้าย

รถที่ทำหน้าที่ในการลาก ควรออกตัวด้วยความนุ่มนวลและต้องส่งสัญญาณให้รถคันที่ถูกลาก ทราบทุกครั้ง เช่น ตอนขับเปลี่ยนเลน เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เป็นต้น ที่สำคัญคือประคับประคองให้รถวิ่งไปตามเส้นทางโดยไม่สะดุด รักษาความเร็วคงที่ไปเรื่อยๆ พยายามให้เชือกที่ใช้ลากมีความตึงอยู่ตลอดเวลา หากเมื่อใดที่เชือกหย่อนและรถคันหน้า เร่งความเร็วขึ้นไม่สัมพันธ์กับความเร็วของรถที่ถูกลากก็จะเกิดการกระตุก และกระชากอาจทำให้เชือกขาดได้

เมื่อรถที่ถูกลาก ไม่มีการสตาร์ทเครื่องให้เครื่องยนต์ทำงาน ที่หม้อลมเบรกก็จะไม่สามารถเก็บสูญญากาศได้ ผู้ขับขี่จะสามารถเหยียบเบรกด้วยความนิ่มนวลได้เพียงแค่ครั้งหรือ 2 ครั้งเท่านั้น จากนั้นเบรกจะแข็งต้องออกแรงเหยียบเบรกมากเป็นพิเศษ หากผู้ขับขี่ด้านรถที่ถูกลากต้องการชะลอความเร็ว ก็อาจใช้วิธีเหยียบเบรกย้ำหลายๆ ครั้งซึ่งต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ และต้องประคับประคองให้เชือกมีความตึงอยู่ตลอดเวลาด้วย

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเข้าใจ และสติในการควบคุมลักษณะการควบคุมดังกล่าวอย่างระมัดระวัง การลากในลักษณะนี้ไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและควรลากต่อครั้งในระยะทางที่ไม่มากจนเกินไป เพราะในระหว่างที่มีการเคลื่อนตัว ชิ้นส่วนที่ติดตั้งอยู่ในระบบขับเคลื่อน เช่น เกียร์หรือเฟืองท้ายก็จะขยับเขยื้อนตามไปด้วย และทำให้เกิดความร้อนสะสม โดยเฉพาะรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ เมื่อเครื่องยนต์ไม่ทำงานน้ำมันเกียร์อัตโนมัติก็จะไม่หมุนเวียน หากลากรถไปในระยะทางไกลๆ จะเกิดความเสียหายกับชุดเกียร์ได้

เครดิต www.heremoo.com