Toyota สวีเดน ออกมาตอบ : กรณี Hilux Revo สอบตก Moose test 2-2

รูปที่ 6 – เริ่มพยายามหักขวาต่ออีกรอบ

แรงเหวี่ยงสะสมบวกกับการหักเลี้ยว ทำให้รถยวบทางซ้ายอย่างรุนแรง
สังเกตได้ว่าเกือบทุกคัน ล้อฝั่งวงนอกโค้งบี้หมด แต่ Hilux คันสีแดง
เตรียมกินคอร์เน็ตโต้รสส้ม

 

รูปที่ 7 – ช่วงส่งต่อที่ล้อยังหักเลี้ยวขวาอยู่

แรงเหวี่ยงสะสมบวกกับการหักเลี้ยว ทำให้รถแต่ละคันเสียอาการอย่างชัดเจน Nissan, Ford, Isuzu ยังกดล้อทั้ง 4 ไว้กับพื้นได้แบบเสียวๆ ในขณะที่ Hilux สีแดง สีเงิน และ Mitsubishi ขอจดทะเบียนเป็นรถ 3 ล้อชั่วคราว

ในกรณีของ Hilux คันสีแดงล้อ 18 นิ้ว สังเกตได้ว่าล้อหลังลอยจากพื้น
ค่อนข้างมาก เป็นไปได้ว่าที่ Oscar บอกว่าล้อหน้าวงนอกโค้งมีแรงยึดเกาะมาก ทำให้เกิดแรงดีดขืนที่ยกล้อหลังได้สูงตามที่เห็นในภาพ

 

รูปที่ 8 – ตัวใครตัวมัน

นี่คือจุดที่ไปแบบ ทางใครทางมัน ที่เหลือก็เป็นอย่างที่คุณเห็นในคลิป
Hilux สีแดงจะส่งอาการไปทางใกล้คว่ำจน Oscar ต้องแก้พวงมาลัยช่วย
ส่วน Hilux สีเงิน ชีวิตเสียวน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าคู่แข่ง

Mitsubishi กำลังเตรียมกลับมาจดทะเบียนเป็นรถ 4 ล้ออีกครั้ง
ส่วน Nissan, Ford และ Isuzu ผ่านฉลุย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น??
เราคงไม่สามารถฟันธงว่าเกิดจากอะไร แต่หลังจากที่ได้ทราบข่าวการทดสอบ สิ่งแรกที่หลายท่านค้นดู ก็คือรูปที่น้าหมูเคยทำไว้เพื่อเปรียบเทียบสเป็ครถกระบะรุ่นต่างๆ

 

แม้ว่าเราอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่า รถสเป็คไทย กับสเป็คที่ส่งสวีเดนจะ
เหมือนกัน 100% หรือไม่ แต่ถ้าเกิดว่าเหมือน เราคิดว่าระยะต่ำสุดจากพื้น
(Ground Clearance) ที่สูง 286 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าเจ้าอื่นอยู่มากนั้น
อาจมีผลทำให้จุดศูนย์กลางของแรงเหวี่ยงอยู่สูงขึ้นไปด้วย

แม้ว่าบอดี้รถจะเตี้ยกว่า Isuzu แต่ Hilux อาจมีจุดศูนย์รวมของน้ำหนัก
เช่นเครื่องและเกียร์ ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ซึ่งเวลาหักเลี้ยวแรงๆ
ก็จะมีพลังสะสมรอที่จะดีดรถออกนอกไลน์ได้เยอะกว่า เมื่อรถพยายามจะ
แถออก แต่ยางพยายามขืนสู้ ยิ่งทำให้มีแรงดีดสะสมมาก ในวินาทีสุดท้ายที่ยางหมดพลังสู้ จึงปลดปล่อยแรงนั้นออกมาอย่างควบคุมไม่ได้

จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่าบางครั้ง  ความแข็งและความมั่นคงของช่วงล่าง
ในการหักแบบจังหวะเดียวนั้น อาจยังไม่บอกเรื่องราวทั้งหมด จากภาพที่
เรา Capture มาให้ดู คงสังเกตเห็นได้ว่าวิกฤติของรถแต่ละคันจะเริ่มในช่วงที่มีการหักกลับมาอีกทาง

ประการที่สอง ผมคิดว่าพวกเราหลายคนเชื่อว่าล้อยางยิ่งแก้มเตี้ย ยิ่งดี
แต่ในกรณีนี้ รถล้อ 18 กลับมีอาการตอบสนองน่ากลัวกว่า?? ไม่ใช่เรื่อง
ความกว้างของหน้ายางเสียด้วย เพราะทั้งสองแบบ ก็ใช้ยางหน้ากว้าง
265 มิลลิเมตรเท่ากัน แต่แก้มยางสูงไม่เท่ากัน ถ้าให้พนันกันบนโต๊ะ
ก๋วยเตี๋ยวหลังมหาลัย ผมเชื่อว่าหลายคนมองว่ายางแก้มเตี้ยมีสิทธิ์
รอดปลอดภัยมากกว่า จะว่าเรื่องสนามทดสอบคนละจุดกันระหว่างคัน
สีแดงกับสีเงินมีส่วนหรือไม่ ก็อาจมี แต่ถ้าพื้น Grip ไม่เท่ากัน อาการ
ก็น่าจะออกตั้งแต่ตอนหักกลับลำครั้งแรก

ประการที่สาม อย่าเพิ่งรีบฟันธงว่าผลทดสอบออกมาแบบนี้แล้วเราจะได้ผลการทดสอบแบบเดียวกันในประเทศไทย เพราะรถสเป็คยุโรปอาจมีความต่าง กับรถบ้านเรา เช่น Nissan บ้านเราใช้ช่วงล่างหลังแหนบ แต่ของสวีเดน จะเป็นแบบ Five-link ส่วน Hilux สเป็คสวีเดนนั้น ไม่มีข้อมูลบนเว็บภาษาสวีเดน แต่ดูจากคลิปในเว็บ toyota.se และเทียบข้อมูลกับเว็บฝั่งอังกฤษเป็นช่วงล่างแบบแหนบ

งานนี้ ก็คงต้องขอให้ Toyota สวีเดน กับทาง Teknikens Varld ร่วมมือกันเพื่อหาทางออกที่ได้ประโยชน์กับทั้งบริษัท และทั้งลูกค้า ซึ่งเราสามารถแก้ได้โดยใช้การปรับตั้งทางเทคนิค และการเสริมสร้างทักษะการขับขี่ให้กับคนขับซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ครับ

เครดิต www.headlightmag.com