คิดให้ดีก่อนทำประกันรถยนต์ชั้น 2+
เจ้าของรถหลายคนอาจกำลังคิดหาทางลดภาระค่าใช้จ่ายประกันภัยรถยนต์ ด้วยการเปลี่ยนจากประกันชั้น 1 ที่ใช้อยู่เดิม มาเป็นประกันชั้น 2+ ที่มีความคุ้มครองใกล้เคียงกัน ประกันทั้งสองแบบต่างกันอย่างไร? แล้วจะเลือกแบบไหนดี?
แน่นอนว่าประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 หรือที่เรียกกันว่า ประกันชั้น 1 จะคุ้มครองกรณีเกิดความเสียหายได้ครอบคลุมมากที่สุด โดยไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิด หรือฝ่ายถูก หรือแม้กระทั่งการชนโดยไม่มีคู่กรณีที่เป็นรถยนต์ด้วยกัน (แต่อาจเป็นเสาบ้าน, กระถางต้นไม้ หรืออะไรก็ตามแต่) ทางบริษัทประกันจะซ่อมให้ทั้งหมด ซึ่งอาจมีหรือไม่มีค่าเสียหายส่วนแรก (Excess Charge) ก็ได้ ซึ่งประกันประเภทนี้มักมีราคาสูงที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000 บาทต่อปีเป็นอย่างต่ำ
ความคุ้มครองประกันภัยชั้น 1
- คุ้มครองรถยนต์ที่เอาประกันภัย
- คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก
- ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตบุคคลภายนอก
- ครอบคลุมรถหาย/ไฟไหม้
ความคุ้มครองประกันภัยชั้น 2
- คุ้มครองรถยนต์ที่เอาประกันภัย (เฉพาะอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีเป็นยานพาหนะทางบกเท่านั้น)
- คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก
- ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตบุคคลภายนอก
- ครอบคลุมรถหาย/ไฟไหม้
ขณะที่ประกันภัยประเภท 2+ ถือเป็นทางเลือกใหม่ ที่มีราคาย่อมเยากว่าประกันประเภท 1 และยังคงให้ความคุ้มครองเทียบเท่าประกันภัยประเภท 1 ด้วยเช่นกัน แต่จุดต่างสำคัญระหว่างประกันทั้ง 2 ประเภท คือ ประกันภัยประเภท 2+ หากเกิดอุบัติเหตุ จะต้องมีคู่กรณีเป็นพาหนะทางบกที่สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งเท่านั้น และต้องระบุคู่กรณีได้ จึงจะสามารถรับผลประโยชน์จากความคุ้มครอง
มาถึงจุดนี้หลายคนคงคิดว่า รถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนนั้น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ คู่กรณีก็ต้องเป็นรถยนต์ด้วยกันอยู่วันยันค่ำ คงไม่มีปัญหาในการเคลมอย่างแน่นอน จึงเลือกทำประกันรถยนต์ชั้น 2+ ที่มีราคาย่อมเยากว่า
แต่ระวังให้ดีนะครับ เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ใครจะรู้ว่ารถที่ถูกจอดไว้อย่างดิบดี จู่ๆจะถูกรถคันอื่นเฉี่ยวชนแล้วหลบหนีไป กลับมาอีกทีก็ไม่สามารถระบุคู่กรณีได้ หรือเกิดขับรถขณะฝนตกแล้วพลาดเสียหลักชนกันขอบทางหรือเสาไฟ แบบนี้ประกันชั้น 2+ ก็ไม่รับผิดชอบเหมือนกัน และยังมีอีกหลายกรณีที่คุณอาจคาดไม่ถึง อาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายบานปลายกว่าค่าเบี้ยประกันชั้น 1 ก็เป็นได้
รู้แบบนี้แล้ว เมื่อถึงเวลาต่อประกันภัยครั้งต่อไป ก็ลองไตร่ตรองพิจารณาความคุ้มครองให้รอบคอบสักนิด เพราะจำนวนเงินที่ต่างกันเพียงไม่กี่พันบาท อาจเทียบไม่ได้กับค่าซ่อมรถหลักหมื่นในภายหลังนั่นเองครับ
เครดิต www.sanook.com