ถนนเมืองไทย ขับเร็วได้แค่ไหนกันแน่
ผู้ใช้รถใช้ถนนหลายคนอาจจะเคยได้รับจดหมายชี้แจงความผิดฐานขับรถเร็วเกินกำหนดมาถึงประตูบ้านกันมาบ้าง เคยสงสัยไหมว่าในความเป็นจริงแล้วกฎหมายเมืองไทยกำหนดให้ทำความเร็วไม่เกินเท่าไหร่กันแน่ และถนนในเมืองกับทางด่วนแตกต่างกันหรือไม่ เราอาสาพาไปคลายข้อสงสัยเหล่านี้
ความเร็วตามกฎหมาย
หากยึดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติจราจรทางหลวง กำหนดความเร็วสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยแยกตามประเภทถนนได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้
- เขตกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเขตเทศบาลทุกจังหวัด ตามกฎหมายระบุให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งในกลุ่มนี้รวมถึงทางด่วนพิเศษที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครด้วย
- ทางหลวงระหว่างจังหวัด หรือเส้นทางที่เชื่อมต่อแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทย กฎหมายระบุให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.
- มอเตอร์เวย์ และวงแหวนกาญจนาภิเษก 2 เส้นทางที่กฎหมายระบุเอาไว้ว่า สามารถทำความเร็วสูงมีสุดในประเทศ นั่นก็คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.
ตำรวจมีการอนุโลม และเตรียมแก้กฎหมายจริงหรือ
ทั้งนี้เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบหลักการอัตราความเร็วใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย เตรียมแก้ไขเพิ่มความเร็วรถบนทางด่วนพิเศษทุกเส้นทาง ขึ้นไปที่ 100-110 กม./ชม. จากเดิมวิ่งได้เพียง 80 กม./ชม. ทว่าเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
อย่าลืม! ขับขวาผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งประเด็นของการขับรถโดยในเส้นทางที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป คือการที่หลายคนอาจจะเคยชินหรือเผลอ ขับแช่เลนด้านขวา จนถูกตำรวจเรียก และถูกปรับในข้อหา ‘ขับขวา’ ทั้งที่ไม่ได้ขับทำความเร็วเกินกำหนดแต่อย่างไร
กรณีนี้ กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ขับขี่จะต้องขับอยู่ในเลนฝั่งซ้ายเป็นหลัก ยกเว้นในกรณี มีสิ่งกีดขวาง หรือรถคันหน้าขับช้า หรือต้องการแซงรถคันหน้าเท่านั้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้ขับขี่รถทุกคนควรต้องรู้ก่อนขับรถออกจากบ้านไม่ว่าจะเป็นเส้นทางในเมืองหรือทางไกลก็ตาม
เครดิต www.sanook.com