“รถยนต์เมืองไทย” ความปลอดภัยกี่ดาว

 ความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการใช้รถใช้ถนน เคยสงสัยหรือไม่ว่า รถยนต์ที่ขายในบ้านเรามีระดับความปลอดภัยแค่ไหน และมีการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยก่อนปล่อยรถออกจากโชว์รูมหรือไม่ เรามีคำตอบมาฝากกัน

มาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ในเมืองไทย

     แม้ภาครัฐโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จะออกหลักเกณฑ์ให้รถใหม่ทุกคันต้องแจกแจงรายละเอียดผ่าน ECO Stiker ที่เน้นมาตรฐานเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ความประหยัด และความปลอดภัย แต่หากสังเกตกันให้ดีแล้ว รถยนต์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการทดสอบมาตรฐานการชนตามที่กำหนดเอาไว้

     โดยใน ECO Stiker มีหัวข้อมาตรฐานความปลอดภัยหลักๆคือ ระบบความปลอดภัยก่อนเกิดเหตุ เน้นไปที่ด้านเทคนิคของตัวรถ ( R13H) และระบบความปลอดภัยหลังเกิดเหตุ นั่นก็คือการทดสอบการชนด้านหน้า (R94) และการชนจากด้านข้าง (R95)

ตัวอย่าง ECO Stiker ของรถ C-HR รุ่น 1.8

     อย่างไรก็ดี เมื่อดูจาก ECO Stiker ของรถใหม่เกือบทั้งหมดที่ขายในเมืองไทย ปรากฎว่าค่ายรถส่วนใหญ่ไม่ได้มีการทดสอบมาตรฐานการชนอย่างจริงจัง นั่นหมายความว่าประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องผ่านมาตรฐานทดสอบการชนถึงจะนำออกขายได้

ASEAN NCAP สถาบันทดสอบการชน

     ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีองค์กรที่ชื่อว่า ASEAN NCAP (New Car Assessment Program for Southeast Asia) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่สุ่มตรวจมาตรฐานรถยนต์ใหม่ที่ขายในภูมิภาคนี้ โดยเน้นไปที่ความปลอดภัย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยหลักการทดสอบเป็นไปตามองค์กรแม่ในฝั่งยุโรป ที่มีชื่อว่า EURO NCAP

การทดสอบโดย ASEAN NCAP

     ทั้งนี้การทดสอบของ ASEAN NCAP จะมีทั้งการสุ่มตรวจด้วยการซื้อรถใหม่ป้ายแดงจากโชว์รูมจริงๆมาทดสอบ รวมถึงยังมีกรณีที่ค่ายรถว่าจ้างให้ทำการทดสอบ เพื่อที่จะได้นำไปการันตีถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำการตลาดต่อไป

เช็คผลทดสอบการชน รถยนต์ในเมืองไทย

     เว็บไซต์อย่างเป็นทางการได้มีการเปิดเผยผลการทดสอบการชนรถยนต์ 5 รุ่นล่าสุดที่ขายในเมืองไทยซึ่งมีผลการทดสอบดังนี้

Toyota Camry ทดสอบเดือนธันวาคม 2018 คะแนนความปลอดภัย 91.45 อยู่ในระดับ 5 ดาว

Nissan Terra ทดสอบเดือนพฤศจิกายน 2018 คะแนนความปลอดภัย 83.18 อยู่ในระดับ 5 ดาว

Suzuki Swift ทดสอบเดือนกันยายน 2018 คะแนนความปลอดภัย 71.05 อยู่ในระดับ 4 ดาว

MG 3 ทดสอบเดือนพฤษภาคม 2018 คะแนนความปลอดภัย 48.8 อยู่ในระดับ 2 ดาว

Toyota C-HR ทดสอบเดือนเมษายน 2018 คะแนนความปลอดภัย 91.31 อยู่ในระดับ 5 ดาว

ทั้งนี้หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่ารถที่ผลิตจากวัสดุเหล็กยิ่งแข็งแรงเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ชีวิตในรถปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว วัสดุที่ยืดหยุ่นและซึมซับแรงกระแทกได้ดีที่สุดจะช่วยลดแรงกระแทกที่มาถึงคนในรถได้ดีกว่า ฉะนั้นประเด็นสำคัญในการทดสอบ ไม่ได้อยู่ที่ความเสียหายของรถ แต่มุ่งเน้นไปที่ชีวิตของคนในห้องโดยสารเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ ในการทดสอบดังกล่าวเป็นเพียงแค่การชนจากทางด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจของบริโภคเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงบนท้องถนน อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และทุกทิศทาง ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบของผู้ขับขี่ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยนั่นเอง

เครดิต www.sanook.com