ทำความเข้าใจสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้กระจ่างมากขึ้น

การซื้อรถยนต์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อรถยนต์กันแบบผ่อน ใช้บริการในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแล้วค่อยผ่อนชำระในภายหลัง จะ 3 ปี 4 ปี 5 ปี ก็แล้วแต่ความสะดวก แต่ก็ยังมีอีกหลายรายละเอียดที่คนซื้อยังไม่เข้าใจ ว่าสัญญาในการผ่อนชำระนั้น มันไม่เหมือนกับการซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ส่วนจะมีรายละเอียดที่สำคัญอะไรบ้าง เรามาทยอยทำความเข้าใจไปทีละส่วนครับ

การซื้อรถกับซื้อบ้าน กู้ซื้อเหมือนกัน แต่รูปแบบการกู้แตกต่างกัน

ต้องเริ่มอธิบายก่อนว่า การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์กับการซื้อรถยนต์นั้น มีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยการซื้อบ้านนั้น เป็นการทำสัญญาแบบ “จดจำนอง” โดยเมื่อเราทำสัญญาซื้อขายกับผู้ขายแล้ว จะมีการทำสัญญาจดจำนองกับสถาบันการเงิน โดยทางผู้ขาย จะมีการ “โอนทรัพย์สินให้เป็นชื่อของผู้ซื้อ”  แล้วมีการสลักหลังเอาไว้ว่า ทรัพย์สินนี้ติดหนี้จำนองไว้กับสถาบันการเงิน (ต้องทำที่สำนักงานที่ดิน) แล้วทางสถาบันการเงินจึงจะทำการจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อตามจำนวนที่ทำสัญญากันอีกที ดังนั้นสัญญาแบบนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่สามารถทำการขายหรือโอนให้กับผู้อื่นได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสถาบันการเงินที่เป็นผู้รับจำนอง และเมื่อทางผู้ซื้อทำผิดสัญญาในการส่งค่างวด ทางสถาบันการเงินต้องทำการฟ้องศาล เพื่อบังคับคดีให้ผู้ซื้อ “ขาย” ทรัพย์สินที่ติดจำนอง เพื่อนำเงินจากการขายมาชำระหนี้ให้หมด

ส่วนสัญญาเงินกู้เพื่อผ่อนรถยนต์นั้น จะเป็นสัญญาในรูปแบบ “เช่าซื้อ” ขั้นตอนจะคล้ายกับซื้อบ้าน คือผู้ซื้อทำสัญญากับผู้ขาย แล้วผู้ซื้อทำสัญญากับสถาบันการเงิน จากนั้นทางผู้ขายจะทำการ “โอนทรัพย์สินให้เป็นของสถาบันการเงิน” แล้วระบุชื่อครอบครองเอาไว้ที่สมุดทะเบียนประจำรถ ก็คือชื่อของผู้ซื้อนั่นเอง ดังนั้น ทรัพย์สินที่ผู้ซื้อครอบครองอยู่นั้น จะยังไม่ได้เป็นของผู้ซื้อ เพียงแต่ทำการ “เช่าใช้งาน” จากสถาบันการเงิน เพียงแต่เมื่อทำการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยครบเมื่อไหร่ สถาบันการเงินถึงจะทำการโอนทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อในภายหลัง

รูปแบบต่างกัน วิธีคิดดอกเบี้ยก็ต่างกัน

สัญญาของการคิดดอกเบี้ยของการ “จดจำนอง” และ “เช่าซื้อ” นั้นแตกต่างกัน โดยการคิดดอกเบี้ยของการซื้อบ้านนั้น จะคิดในแบบ “ลดต้นลดดอก” หรือเรียกกันตามภาษาการเงินว่า Effective Rate ที่จะมีการคำนวนดอกเบี้ยกันทุกเดือน เมื่อมีการชำระใน 1 งวด จะมีการจ่ายทั้งดอกเบี้ยทั้งหมดและเงินต้นในจำนวนหนึ่ง และเดือนต่อไป เมื่อเงินต้นลดลงแล้ว ดอกเบี้ยก็จะลดตามไปด้วย อย่างเช่น กู้เงินจำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ย 10% ต่อปี ต้องชำระเงินงวดแรกในเดือนเมษายน โดยในปีนั้นมี 365 วัน สูตรจะออกมาเป็น (100,000 x 0.1 x 30) ⁒ 365 จะได้ค่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระงวดนั้น 821.92 บาท และเมื่อเราชำระเงินไปจำนวน 1,500 บาท หมายความว่า งวดนั้นเราจะหักเงินต้อนออกไปได้ 678.08 บาท ทำให้เหลือเงินต้น 99321.92 บาท ก็จะใช้ตัวเลขนี้นำไปคำนวนเป็นเงินต้นในงวดถัดไป

แต่สำหรับการเช่าซื้อรถยนต์นั้น จะมีการคิดเงินในรูปแแบ Flat Rate ซึ่งหมายความว่า จะมีการนำอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมดมาคำนวนรวม แล้วหารเฉลี่ยออกไปเท่า ๆ กันทุกงวด ยกตัวอย่างดังนี้

นายเต้ยต้องการซื้อรถยนต์ Toyota Hilux Revo Prerunner Double Cab 2X4 2.4 TRD Sportivo ราคารวมอุปกรณ์ตกแต่ง 935,000 บาท (รวม VAT. 7% แล้ว) โดยจะดาวน์ 20% ผ่านสถาบันการเงินที่คิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ผ่อนชำระ 60 งวด (5 ปี) ก็จะเข้าสูตรคำนวณดังนี้

1.) 935,000 (ราคารถ) – 187,000 (เงินดาวน์) = 748,000 (ยอดจัดซื้อ)

2.) 748,000 (ยอดจัดซื้อ) x 5% (ดอกเบี้ยต่อปี) = 37,400 (จำนวนดอกเบี้ยรายปี)

3.) 37,400 (จำนวนดอกเบี้ยรายปี) x 5 (จำนวนปีที่ทำการผ่อนชำระ) = 187,000 (ดอกเบี้ยทั้งหมด)

4.) 187,000 (ดอกเบี้ยทั้งหมด) + 748,000 (ยอดจัดซื้อ) = 935,000 (ยอดหนี้ทั้งหมด)

5.) 935,000 (ยอดหนี้ทั้งหมด) ÷ 60 (จำนวนเดือนที่ต้องผ่อนชำระ) = 15,583.33 ปัดขึ้นเป็น 15,584 (ยอดชำระรายเดือน)

จะเห็นได้เลยว่า แต่ละงวดนั้น จะมีการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นไปจำนวนเท่ากันทุกงวด ตลอดระยะเวลาของการผ่อนชำระเลย

ทำไมเช่าซื้อรถยนต์ถึงไม่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกบ้าง?

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่แล้ว จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน ซื้อวันนี้ในราคา 100 อีก 5 ปีอาจจะขึ้นราคากลายเป็น 600 ได้ แต่สำหรับสินค้าอย่างรถยนต์นั้น มูลค่าเสื่อมลงทุกปี ดังนั้นทางสถาบันการเงินจึงต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” ในการขาดทุนถ้ากรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถทำการผ่อนชำระได้ตามสัญญา ดังนั้นการใช้ดอกเบี้ยแบบ Flat Rate จึงเป็นเหมือนการเก็บ “ค่าความเสี่ยง” ถ้าไปใช้ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก จะมีโอกาสเกิดความ “ไม่คุ้มค่า” กับการดำเนินธุรกิจได้ และที่สำคัญคือ อัตราการผิดสัญญาของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์อย่างรถยนต์, รถมอเตอร์ไซค์นั้น มีอัตราที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ดังนั้นความเสี่ยงเหล่านี้ จึงแปรไปเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบ Flat Rate นั่นเอง

กฎหมายใหม่ให้เรียกเก็บดอกเบี้ยแบบ ลดต้นลดดอก (Effective Rate) ไม่ใช่หรือ?

เมื่อปีที่แล้ว ได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีใจความช่วงหนึ่งบอกว่า “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยสําหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับการคํานวนดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยโดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด” ซึ่งหลายคนเอาไปตีความเอาเองว่า กฎหมายนี้ออกมาบังคับให้สถาบันทางการเงินเรียกเก็บดอกเบี้ยผู้กู้ในรูปแบบเดียวกับการซื้อบ้าน แต่แท้จริงแล้วภายหลังทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำการชี้แจงออกมาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ว่า “การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงใช้แบบ เงินต้นคงที่ (Flat Rate) เหมือนเดิม”ตามที่ใช้ในการคำนวณค่าเช่าซื้อในแต่ละงวด ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำตารางแสดงภาระหนี้สินตามสัญญาสำหรับผู้เช่าซื้อแต่ละราย โดยให้ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) เพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคให้ได้รับทราบภาระดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หากผู้เช่าซื้อประสงค์จะปิดบัญชีค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญา จะได้ส่วนลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระร้อยละ 50 และในกรณีการคิดเบี้ยปรับกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระเงินค่างวดให้ผู้ประกอบธุรกิจคิดเบี้ยปรับได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (effective interest rate) บวกร้อยละสามต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปี” หมายความว่า ในสัญญาต้องระบุการคำนวนแบบ Effective Rate ไว้ให้ชัดเจนด้วย เพราะจะมีผลกับตอนคำนวนค่าปรับผิดนัดค่างวดนั่นเอง

ที่มาข้อมูล http://www.ocpb.go.th/news_view.php?nid=9029

ต้องระบุอะไรเอาไว้ในสัญญาเช่าซื้อบ้าง?

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการระบุข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้

  1. ยี่ห้อรุ่นหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง, เป็นรถใหม่หรือมือ 2, เลขไมล์, ภาระผูกพัน (ถ้ามี)
  2. ราคาเงินสด, จํานวนเงินจอง, จํานวนเงินดาวน์, ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ, อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี (Flat Interest Rate), ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate),  จํานวนงวดที่ผ่อนชําระ, จํานวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น, จํานวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชําระในแต่ละงวด, จํานวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชําระในแต่ละงวด, เริ่มชําระค่างวดแรกในวันที่ และชําระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่
  3. วิธีคํานวณจํานวนเงินค่าเช่าซื้อ, จํานวนค่าเช่าซื้อจํานวนดอกเบี้ยที่ชําระ และจํานวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชําระในแต่ละงวด
  4. ตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสําหรับผู้เช่าซื้อแต่ละราย โดยให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจํานวนงวดค่าเช่าซื้อที่ต้องชําระ, วันเดือนปีที่ชําระเงินค่างวดเช่าซื้อ, จํานวนเงินค่าเช่าซื้อที่ชําระในแต่ละงวด โดยแยกเป็นเงินต้นดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อ, ภาษีมูลค่าเพิ่มและจํานวนเงินค่าเช่าซื้อคงค้าง
  5. อัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ

ดังนั้น ก่อนเซ็นชื่อในการทำสัญญาเช่าซื้อทุกครั้ง แนะนำให้อ่านสัญญาโดยละเอียด ว่ามีการระบุข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในสัญญาแล้วหรือไม่ ถ้ามีจุดไหนไม่ถูกต้อง ให้ทักท้วงทันที

ถ้าเราไม่ชำระค่างวดนานแค่ไหน สัญญาถึงจะถูกยกเลิกได้

เราก็พอทราบกันอยู่แล้ว ว่าการไม่ชำระเงินค่างวดเป็นจำนวน 3 งวด จะมีผลทำให้ทางสถาบันการเงินสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อฉบับนั้นได้ แต่ถ้าไปอ่านตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๖๑ จะมีการระบุเอาไว้ว่า “ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชําระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติด ๆ กันและผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชําระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้นผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้” ถ้าอ่านกันตามตัวอักษรแล้ว หมายความว่า ถ้าไม่มีการชำระเงินเป็นจำนวน 3 งวดติดต่อกัน ทางผู้ให้เช่าซื้อถึงจะทำการยกเลิกสัญญาได้ โดยมีการแจ้งล่วงหน้าก่อน 30 วันก่อนยกเลิกสัญญา (รวม 4 เดือน) แต่ถ้ากรณีผู้เช่าซื้อไม่ได้ชำระเงินในงวด 5, 6 และ 7 แต่มาชำระในงวดที่ 8 แล้วผู้ให้เช่าซื้อมีการรับชำระไว้โดยไม่มีการทักท้วง จะมีผลให้สัญญานั้นยังคงมีผลต่อไปได้อีกอย่างน้อย 3 เดือน เพราะกฎหมายมองว่า ผู้ให้เช่าซื้อยินยอมให้สัญญานั้นยังคงมีผลต่อไป (อ่านตัวอย่างคำพิพากษาได้ที่ www.peesirilaw.com/สัญญาและนิติกรรม/ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์.html) แต่ผู้เช่าซื้อนั้น ไม่สามารถบังคับให้ทางผู้เช่าซื้อรับเงินบางส่วนได้ในกรณีที่ค้างชำระ ทางสถาบันการเงินมีสิทธิ์ในการขอเรียกเก็บเงินค้างชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ถ้าไม่มีการจ่ายให้ครบ ก็มีสิทธิ์ในการบอกเลิกสัญญาได้ตามที่กฎหมายระบุ

ปิดบัญชีเลย ต้องจ่ายเท่าไหร่?

ถ้าเราทำสัญญาซื้อบ้าน ที่มีการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate) เกิดโชคดีเรามีเงินเพื่อปิดบัญชีได้ เราสามารถนำเงินไปชำระกับทางสถาบันการเงิน ตามเงินต้นที่ผู้ซื้อค้างชำระเอาไว้ พร้อมดอกเบี้ยที่คำนวนจนถึงวันปิดสัญญาได้เลย แต่สำหรับสัญญาเช่าซื้อนั้นแตกต่างกัน สมมุติว่าเราทำสัญญาผ่อนชำระไป 60 งวด แต่ผ่อนไปได้ 10 งวดแล้วถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 อยากจะปิดบัญชีเลย เราจะได้ส่วนลดดอกเบี้ยเป็นจำนวนอย่างน้อย 25 งวดเท่านั้น (จากจำนวน 50 งวดที่เหลือ) เพราะในกฎหมายระบุเอาไว้ว่า “หากผู้เช่าซื้อประสงค์จะปิดบัญชีค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดสัญญา จะได้ส่วนลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระร้อยละ 50” นั่นเอง

สรุปแล้ว เจ้าหนี้สามารถยกรถไปได้เลยจริงหรือ กรณีถูกยกเลิกสัญญา?

ถ้ากรณีที่ผู้ซื้อ ไม่สามารถทำการชำระเงินค่างวดจำนวน 3 งวดติดต่อกัน และมีการส่งจดหมายแจ้งขอยกเลิกสัญญาล่วงหน้าแล้วจำนวน 30 วัน กฎหมายระบุเอาไว้ว่า “เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ๆ และผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ” หมายความว่า สถาบันทางการเงินผู้เป็นคู่สัญญา สามารถยึดรถกลับมาไว้ในครอบครองได้เลย ดังนั้นการถูกยกรถไป จึงถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เพราะถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของสถาบันการเงินนั่นเอง

เมื่อถูกยึดรถ ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร?

การไม่ผ่อนชำระค่างวดรถตามสัญญา แล้วถูกยกเลิกสัญญาจนถูกยึดรถกลับไป ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบลง ต่างแยกย้ายกันไป เพราะการเป็นหนี้ยังคงอยู่ สถาบันการเงินจะทำการนำรถหรือรถจักรยานยนต์คันนั้นออกทำการขายทอดตลาดต่อไป ขั้นตอนนี้ผู้ซื้อยังมีสิทธิ์ในการดำเนินการเพื่อขอกลับมาเป็นเจ้าของได้ เริ่มจาก

  1. ทางสถาบันการเงินจะมีจดหมายแจ้งมาเพื่อให้ผู้ซื้อทำการเข้าซื้อรถคันนั้น ตามมูลค่าของยอดหนี้คงเหลือพร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หักส่วนลดตามความเหมาะสม โดยให้เวลาดำเนินการได้ภายใน 7 วัน
  2. ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการขอซื้อคืนได้ ถ้ามีผู้ค้ำประกัน ต้องแจ้งผู้ค้ำให้เข้ารับสิทธิ์ในการซื้อคืนนี้ ภายในระยะเวลา 15 วัน
  3. ถ้าทั้งผู้ซื้อและผู้ค้ำประกัน ไม่สามารถดำเนินการซื้อคืนได้ ทางสถาบันการเงินจะนำรถออกขายทอดตลาด โดยจะมีการแจ้งทางผู้ซื้อล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการประมูล
  4. ถ้าการขายทอดตลาด มีมูลค่าการขายได้มากกว่ายอดหนี้ ให้นำเงินส่วนต่างคืนกลับไปให้ผู้ซื้อ แต่ถ้าไม่พอ ให้บังคับเอาจากผู้ซื้ออีกที โดยมีจดหมายแจ้งภายใน 15 วันหลังจากการขายทอดตลาดได้
  5. ห้ามสถาบันการเงินในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ เข้าร่วมในการประมูลโดยเด็ดขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ดังนั้นใครที่คิดว่า ปล่อยให้ยึดรถไปแล้วเรื่องจบ ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องนะครับ

เครดิต www.autodeft.com