ไทยก้าวสู่สังคม EV? 8 ข้อเสนอส่งเสริมรถไฟฟ้าจาก EVAT

อย่างที่หลายคนทราบว่า เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมา ทั้งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แน่นอนว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ก็ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พยายามผลักดันบ้านเราให้กลายเป็นสังคม EV อย่างเต็มรูปแบบ

การระดมความคิดร่างข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 8 ข้อจึงถือกำเนิดขึ้น สู่ความหวังที่จะให้ภาครัฐต่อยอดและนำข้อเสนอต่างๆ มาปรับใช้ ซึ่งทั้ง 8 แนวทางจะมีอะไรบ้าง เรารวบรวมมาไว้ตรงนี้แล้ว

01 >>> จัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Roadmap อย่างบูรณาการ และอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมายของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบาย โดยมีนายกฯ หรือรองนายกฯ มาเป็นประธาน

02 >>> ปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ รถรับจ้างไฟฟ้าและรถสามล้อไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี ส่งเสริมรถสามล้อไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการแยกการจดทะเบียนระหว่างรถไฟฟ้าประเภทปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) และ ไฮบริด (HEV)

03 >>> ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการที่ภาครัฐควรเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็น ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม เช่น การลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, เพิ่มแรงจูงใจ เช่น เพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะ หรือเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ, หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้นำด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ตามมติคณะรัฐมนตรี, รถโดยสารสาธารณะทั้ง ขสมก., ตุ๊กตุ๊ก, แท็กซี่ ควรเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และท้ายที่สุดควรมีการแยกประเภทป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบเฉพาะ อาจมีการใช้สีหรือสัญลักษณ์บนป้ายทะเบียนที่แยกแยะว่าเป็นประเภทไฟฟ้า 100% (BEV) หรือ ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)

04 >>> รถสามล้อไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้าก็ควรมีการส่งเสริมการผลิต

05 >>> ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิต จัดให้มีการสร้างงานวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ พัฒนาแพลทฟอร์มแบบเปิด (EV Open Platform) ให้ผู้ประกอบการนำมาต่อยอด

06 >>> จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรฐานยานยนต์ที่ครอบคลุม มีหน่วยงานทดสอบและรับรองมาตรฐาน รวมถึงแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพแล้วตามมาตรฐานสากล

07 >>> เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ

08 >> พัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ หลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษาหรือการอบรมต่างๆ เป็นต้น

นับเป็นเรื่องราวในแวดวงยานยนต์ที่กำลังได้รับการจับตามองเป็นอย่างมาก คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยจะก้าวเข้ามามีอิทธิพลกับผู้ขับขี่มากน้อยแค่ไหนในอนาคต

เครดิต www.sanook.com