ประเทศอื่นๆ ผลักดัน “รถ EV” อย่างไรบ้าง?

ในขณะที่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ (EV: Electric Vehicle) ในบ้านเรา ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และมีแนวโน้มว่าต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี ถึงจะเป็นที่นิยมในตลาด รู้หรือไม่ว่าในต่างประเทศ รัฐบาลของพวกเขามีนโยบายอย่างไรกันบ้าง ที่จะทำให้รถพลังงานสะอาดเข้ายึดพื้นที่เหนือรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป

สถิติล่าสุดในปี 2019 นอร์เวย์ คือชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ที่คนในประเทศหันมาใช้รถพลังงานทางเลือกทั้ง EV และไฮบริด รวมกันแล้ว 49 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ในประเทศ รองลงมาก็ยังเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง ไอซ์แลนด์ และ สวีเดน ขณะที่รัฐบาลประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็พากันผุดนโยบายให้คนหันมาใช้รถพลังไฟฟ้ากันอย่างเข้มข้นเช่นกัน

จีน

นอกจากจีนจะเป็นชาติที่ผลิตรถยนต์พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากที่สุดในโลกแล้ว พวกเขายังเป็นเจ้าแห่งการผลิตรถ EV ด้วยเช่นกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา จีนผลิตและขายรถ EV ทะลุ 3 ล้านคัน โดยรัฐบาลจีนวางแผนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2009 โดยเฉพาะสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้ที่ซื้อรถประเภทนี้ อาทิ การอุดหนุนค่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของรถในราคาสูงถึง 2 แสนบาทต่อหนึ่งคัน และมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนก็ยังจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าวอยู่เช่นเดิม ในราคาประมาณ 1 แสนบาทต่อรถ 1 คัน นอกจากนี้รถพลังงานไฟฟ้าในจีนยังได้รับการจดทะเทียนแผ่นป้ายพิเศษสีเขียวซึ่งทำให้ได้รับสิทธิ์พิเศษมากมายในการจราจรบนท้องถนน

สหรัฐอเมริกา

อีกหนึ่งเจ้าตลาดรถยนต์สันดาปของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการผลักดันรถยนต์พลังงานสะอาดให้คนในประเทศ โดยมีรถพลังไฟฟ้ายี่ห้อ เทสล่า (Tesla) เป็นผู้นำเทรนด์มาตั้งแต่ปี 2008 และตัวเลขยอดขายรถ EV และไฮบริด ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนภาครัฐบาล แคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐแรกที่นำร่องนโยบายรถปล่อยมลพิษเป็น (Zero Emission Vehicle) และจากนั้นไม่นานก็มีอีก 9 รัฐตบเท้าตามรอยนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังลดภาษีรถปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถ EV โดยเฉพาะรถพลังไฟฟ้าเต็มรูปแบบ รัฐบาลลดภาษีให้ในระดับ 75,000 บาท ถึง 225,000 บาท ต่อคัน แล้วแต่ความจุของแบตเตอรี่กันเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันมีจุดชาร์จไฟทั่วประเทศกว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ

1

สหราชอาณาจักร

อังกฤษประกาศเป้าหมายระยะยาวให้รถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2040 โดยตัวเลขตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2018 ที่ผ่านมา มีรถ EV และรถปลั๊กอิน-ไฮบริด จดทะเบียนวิ่งในประเทศเกินกว่า 2 แสนคัน โดยในปี 2011 รัฐบาลเมืองผู้ดีได้ริเริ่มโครงการ Plug-in Car Grant ซึ่งเป็นนโยบายที่กำหนดอัตราภาษีจากการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่งและรถตู้ในประเทศทั้งหมด นอกจากนี้รัฐบาลยังมีเงินอุดหนุนให้กับเจ้าของบ้านที่สามารถติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่้ผ่านโครงการ Electric Vehicle Homecharge Scheme อีกด้วย ปัจจุบันรถ EV ในอังกฤษได้รับสิทธิ์พิเศษมากมายอาทิ ที่จอดรถ และการวิ่งผ่านบัสเลน ขณะเดียวกันทางการท้องถิ่นของบริสตอล ยังเตรียมออกกฎหมายห้ามรถดีเซลวิ่งผ่านเขตเมืองให้ได้ภายในปี 2021 อีกด้วย

ญี่ปุ่น

ดินแดนต้นตำหรับรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างญี่ปุ่น ถือเป็นชาติแรกๆ ของโลกเช่นกันที่คิดค้นเทคโนโลยีแบบไฮบริดมาใช้กับรถยนต์ ส่วนรถ EV รัฐบาลมีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยการลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถ EV ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังช่วยอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานทางเลือก อาทิ พลังไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการอุดหนุนสำหรับผู้ที่ซื้อรถพลังไฟฟ้ามาใช้งาน โดยรถขนาดเล็กจะมีส่วนลดในระดับไม่เกินคันละ 20,000 บาท รวมไปถึงรถขนาดใหญ่ อาทิ รถบัส และรถบรรทุก ที่จะมีส่วนลดสูงถึง 100,000 ถึง 400,000 บาทเลยทีเดียว

ออสเตรเลีย

รถ EV ในประเทศออสเตรเลีย เริ่มต้นในช่วงกลางปี 2009 กับรถมิตซูบิชิ i-MiEV ก่อนที่ในปี 2015 เทสล่า รุ่น Model S จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ขณะเดียวกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างแสดงความมุ่งมั่นเต็มที่ให้การให้รถ EV กลายเป็นยานพาหนะหลักของประเทศโดยเร็วที่สุด โดยฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลวางเป้าหมายให้มีรถ EV วิ่งในประเทศอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ขณะที่ฝั่งรัฐบาลคาดการณ์ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2035 ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกันแม้จะอยู่คนละขั้วการเมือง นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2019 ที่ผ่านมา ทางการออสเตรเลียยังเตรียมขึ้นภาษีรถยนต์หรูที่ปล่อยมลพิษ และลดภาษีอัตราพิเศษสำหรับรถ EV นอกจากนี้ล่าสุด รัฐบาลออสซี่ ยังทุ่มงบ 15 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ราว 310 ล้านบาท) สนับสนุนกสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูง ที่ใช้เวลา 15 นาที ชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ให้วิ่งได้ในระยะทาง 100 กิโลเมตร อีกด้วย

“ภาครัฐ” ของไทยหนุนตลาดรถ EV แค่ไหน?

แม้ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ โดยคำนวนจากการปล่อยมลพิษเป็นสำคัญ ทว่าหากสำรวจรถในตลาดจริงๆ รถยนต์ที่เข้าข่ายได้ลดภาษีในอัตราที่สูง ยังเป็นรถแบรนด์หรูที่มีราคาสูงแทบทั้งสิ้น มีเพียงช่วงหลังที่ค่ายอย่างเอ็มจี และนิสสัน ที่กล้าเป็นตัวรถ EV ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท อย่างไรก็ดีฝั่งของรัฐบาลแม้จะมีการประกาศอย่างต่อเนื่องว่าพร้อมสนับสนุนค่ายรถลงทุนทำโรงงานรถพลังไฟฟ้าบ้านเรา แต่ก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้รถในประเทศเปลี่ยนมาเป็นรถ EV แบบเต็มรูปแบบในปีใด รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจกระทบต่อรายได้ของเจ้าของธุรกิจเดิมที่ยังต้องพึ่งผลประโยนช์อันมหาศาลจากรถเครื่องยนต์สันดาปอยู่นั่นเอง

 

เครดิต www.sanook.com