ภาระกิจตามล่าตัวการทำ “เครื่องสั่น!”

รถยนต์รุ่นใหม่ใช้เครื่องยนต์ที่ทันสมัยและตอบสนองการขับขี่ที่ดีกว่ารถยนต์สมัยก่อนมากมาย หากย้อนหลัง 10 ปีที่แล้วนั้น เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร อาจให้สมรรถนะที่ไม่ต่างจากเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีอันฉลาดและการสั่งสั่งงานอย่างฉับไวของระบบสมองกล “ECU” ที่ใช้หน่วยการประมวลผลที่มากมายกายกองที่เรียกว่า “เซนเซอร์” ช่วยให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ดีขึ้น
แต่!..เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งประมาณ 1 แสนกิโลเมตร หรือ 6 ปีขึ้นไปแล้วล่ะก็ ระบบการทำงานต่างๆ เหล่านี้เริ่ม “งอแง” ชวนให้เข้าอู่อยู่เรื่อย โดยในบทความนี้จะยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่เครื่องยนต์มีอาการ “เดินเบาสั่น” รอบตกต่ำกว่าปกติ เร่งไม่ค่อยขึ้น รอรอบ กินน้ำมัน และกลิ่นของไอเสียเหม็นอย่างรุนแรง (ทำไมเยอะขนาดนี้เนี่ย) มาช่วยกันหาต้นต่อว่าสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างครับ

สังเกตอาการเบื้องต้น

การสังเกตง่ายนิดเดียวครับ สตาร์ตเครื่องยนต์โดยทดลองทั้งเปิด-ปิดแอร์ว่ารถสั่นหรือสะท้านทั้งคันหรือไม่ หากเป็นรถเกียร์ออโต้เวลาเข้าตำแหน่งเกียร์ “D” รอบตกมากเกินปกติหรือไม่ และบางครั้งเมื่อเร่งเครื่องยนต์จะมีอาการหน่วงๆ ของรอบเครื่องนั่นคือ เมื่อเร่งหรือออกรถนั้นการตอบสนองช้ากว่าปกติ และอาจมีไฟสัญญาณรูปเครื่องยนต์ติดขึ้นมาบนหน้าปัดแสดงว่า “งานเข้า” แน่นอน

เริ่มหาต้นตอ

อาการลักษณะนี้เกิดได้จากหลายชิ้นส่วนในระบบเครื่องยนต์ ซึ่งมักจะเป็นที่ระบบ การจ่ายเชื้อเพลิงหรือระบบจ่ายไฟเป็นหลัก นั่นคือ หากระบบจ่ายน้ำมันไม่สมบูรณ์ก็จะทำให้การเผาไหม้ในเครื่องยนต์ไม่ดี เดินไม่เรียบ หรือหากระบบไฟจากคอยล์จุดระเบิดและหัวเทียนไม่ดี เครื่องยนต์ก็จะเดินสะดุด เป็นต้น
ที่นี้มาเจาะลึกเข้าไปอีกในกรณีเคสตัวอย่างของบทความนี้ สาเหตุเกิดจาก “การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์” เนื่องจากมีไฟรูปเครื่องยนต์สว่างขึ้นบนหน้าปัด
การเช็คเบื้องต้นนั้น เน้นว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะมีจุดเชื่อมต่อระบบเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของเครื่องยนต์ ทั้งจะเข้าไปใช้บริการจากในศูนย์รถยนต์หรือว่าอู่นอกที่มีเครื่องมือนี้ก็ได้ เครื่องมือนี้ก็จะสามารถอ่านค่าความผิดปกติ ออกมาจากโค้ดรหัสและเทียบกับคู่มือของรถรุ่นนั้นๆ ออกมาเป็นรายการที่ถูกฟ้องว่ามีอะไรเสียบ้าง เช่น ในเคสนี้โค้ดที่แจ้งเอาไว้นั้นแปลออกมาเป็นภาษามนุษย์คือ ส่วนผสมของน้ำมันหนาเกินไปและพร้อมกับเซนเซอร์ออกซิเจนเสีย!!!…ถือว่าเป็นงานเข้าชุดใหญ่ประมาณหนึ่งทีเดียวครับ

ตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากจะมีเครื่องมือทันสมัยแล้วยังต้องมีช่างที่ชำนาญงานพอสมควรในการ “รื้อ” เครื่องยนต์ออกมาด้วย โดยเริ่มต้นนั้นใช้การสันนิษฐานจากโค้ดที่แปลออกมานั่นเอง
เริ่มจากถอด “หัวเทียน” เพื่อมากดูสภาพก่อนว่ายังใช้งานได้หรือไม่ จากในรูปจะเห็นว่า “ดำปี๋” แต่ส่วนของเขี้ยวหัวเทียนและรอบๆ ฐานยังสภาพดีอยู่ นั้นหมายความว่าระบบจ่ายน้ำมัน “มากเกินไป” จึงเผาไหม้ไม่หมดเกิดเขม่าเกาะบริเวณหัวเทียนนี่เอง
หลังจากนั้นเริ่ม “แกะ” เซนเซอร์ต่างๆ ที่ฝั่งตัวตามระบบท่อทางเดินอากาศ เช่น หม้อกรอง, ท่อไอเสีย, ชุดกรองไอเสีย Catalytic converter เป็นต้น เพื่อดูว่าสกปรกหรือไม่ และท้ายสุดหากต้องการทราบสาเหตุที่แน่ชัดจริงๆ ก็ต้องถอดหัวฉีดออกมาเพื่อดูสภาพว่าชำรุดหรือไม่

วิเคราะห์แต่ละชิ้นส่วน

สำหรับในเคสนี้มีตัวการอยู่ทั้งหมด 3 จุดด้วยกัน คือ หัวฉีด, เซนเซอร์ ท่อไอเสียและหัวเทียน โดยก่อนหน้านี้ตั้งใจไว้ว่าจะถอดระบบหัวฉีดไปล้าง แต่บังเอิญเครื่องล้างเกิดเสีย (ซะงั้น) และด้วยสภาพที่มองด้วยตายังไม่มีจุดเสียหายนัก เช่น ยางรอบหัวฉีดยังใช้การได้ดี บริเวณพื้นที่หน้าของรูหัวฉีดขาวสะดาก และประกอบกับที่เคยใช้งานมานั้น อาการรอบตกเป็นๆ หายๆ ยังเร่งเครื่องยนต์ได้ปกติ จึงต้องมาวิเคราะห์ดูจากจุดอื่นๆ กันต่อไป
ตัวการต่อมาคือ หัวเทียน มีสภาพดำมากๆ จากคราบเขม่าเกาะ แต่โดยรวมแล้วสภาพของหัวเทียนเองยังใช้งานได้อยู่ และอาจเกิดจากการที่ระบบจ่ายน้ำมันมากเกินไปหรือว่า “หนา” ทำให้เผาไหม้ไม่หมดเกาะเป็นคราบตามจุดต่างๆ
หัวเทียมมีคราบเขม่าเกาะ
เซนเซอร์ที่อยู่ตรงท่อร่วมไอเสีย
ตัวการอันสุดท้ายของเคสนี้คือ เซนเซอร์ท่อไอเสีย เมื่อถอดออกมานั้น “ดำปี๋” เช่นกัน ซึ่งโดยปกติจุดที่สัมผัสอากาศไอเสียจะต้อง ขาวสวยใสสะอาดประมาณหนึ่งเลย เจ้าเซนเซอร์นี้ทำหน้าที่ตรวจจับและวัดค่าออกซิเจนที่ถูกเผาไหม้ออกมาและจะส่งข้อมูลไปให้ “ECU” คำนวนเพื่อจ่ายน้ำมันต่อไป และในกรณีเองที่มีการจ่ายน้ำมันมากเกินจำเป็น (จากการเช็คโด้ดก่อนหน้านี้) จึงทำให้มีเขม่าที่หัวเทียน เครื่องยนต์สั่นในรอบต่ำๆ (สมัยก่อนเรียกว่าน้ำมันท่วม- ส่วนผสมน้ำมันมากกว่าอากาศ) กินน้ำมันและกลิ่นของไอเสียที่แรงมาก จึงคาดว่าอาจวัดค่าผิดพลาดจนทำให้สั่งจ่ายน้ำมันมากเกินไปและผลจึงทำให้ทั้ง หัวเทียน, เซนเซอร์ต่างๆ มีคราบเขม่าเกาะมากกว่าปกติ

การเปลี่ยนอะไหล่ที่ถูกจุด!

หลังจากที่วิเคราะห์จากหลายสิ่งประกอบเข้าด้วยกันสรุปความได้ว่า “เปลี่ยนเซนเซอร์เถอะ” เพราะอาจเป็นตัวที่คำนวนค่าไอเสียผิดพลาดจนเกิดเรื่องขึ้น และในรถคันที่อยู่ในเคสนี้มีเซนเซอร์ 2 ตัว คือ ที่ท่อร่วมไอเสียและหลังกรองไอเสีย (Catalytic converter)
เมื่อจัดการเปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยก็ทำการถอดเซนเซอร์ในจุดต่างๆ เช่น ลิ้นเร่ง, เซนเซอร์กรองอากาศ ออกมาล้างให้สะอาดก่อนประกอบกลับเข้าที่และทดลองติดเครื่องยนต์ ผลปรากฎว่า “นิ่งขึ้น” และทดลองใช้งานต่อมาอีกสักระยะก็หายเป็นปกติ นับว่าการซ่อมครั้งนี้ “เกาถูกที่คัน” และหากได้ล้างชุดหัวฉีดน้ำมันด้วยก็จะยิ่งดีขึ้น เครื่องจะเดินเรียบขึ้นอีกเยอะ
บทความนี้น่าจะพอเป็นตัวอย่างหนึ่งในอาการ “เครื่องยนต์สั่น-รอบตก” เพื่อเป็นแนวทางในการนำรถเข้าไปตรวจเช็คแก้ไขก่อนที่จะเกิดการเสียหายไปมากกว่านี้ครับ

 

เครดิต www.checkraka.com