เข้าใจกันให้ถูกต้อง ความแตกต่างระหว่างก๊าซ NGV และ LPG

ปัจจุบัน ก๊าซที่ใช้งานในรถยนต์นั้นจะมีอยู่ 2 ประเภท คือก๊าซ LPG ที่ใช้งานมานานมากแล้ว ภายหลังก็มีเพิ่มมาอีก 1 ตัวก็คือ NGV ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แต่หลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจไม่ตรงกัน มีทั้งบอกว่า ก๊าซ 2 ตัวนี้คือตัวเดียวกัน, ก๊าซตัวนั้นตัวนี้ อันตรายกว่า ถูกบ้างผิดบ้างก็ว่ากันไป วันนี้เราจึงเอาข้อมูลที่ถูกต้องมานำเสนอให้ทุกคนได้เข้าใจตรงกันดีกว่าครับ

ก๊าซ LPG

ก๊าซ LPG หรือที่เรียกแบบเต็มว่า Liquefied Petroleum Gas เราเรียกกันแบบคุ้นหูว่าก๊าซหุงต้ม มีลักษณะเป็นของเหลว ระเหยได้ง่าย เป็นผลผลิตที่ได้จากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่น ออกมาในหอกลั่นเดียวกับน้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน เป็นต้น มีส่วนผสมหลักเป็นโพรเทน 70% และบิวเทน 30% ไร้สีไร้กลิ่น แต่ที่เราได้กลิ่นฉุนนั้น เนื่องจากมีการใส่กลิ่นฉุนลงไปเพื่อความปลอดภัย เพราะก๊าซ LPG นั้น มีคุณสมบัติน้ำหนักหนักกว่าอากาศ จึงทำให้ตัวก๊าซนั้นลอยตัวต่ำ ถ้ามีการรั่วไหลออกจากถังบรรจุ จะทำให้มีโอกาสเกิดการติดไฟได้ง่าย หรืออาจเกิดอันตรายจากการสูดดมโดยไม่รู้ตัว

LPG มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ราว 481 องศาเซลเซียส ให้ค่าความร้อนที่ 26,595 BTU/ลิตร แรงดันอยู่ที่ 100-130 PSI หรือประมาณ 4-6 บาร์ จึงสามารถใช้ถังเหล็กขึ้นรูปไม่มีตะเข็บ ความหนาขนาด 2.5 มม. ในการบรรจุได้ โดยจะจัดเก็บในรูปแบบของเหลว มีจุดเดือดที่ -50 องศาเซลเซียส (น้อยกว่านี้เป็นของเหลว สูงกว่านี้เป็นก๊าซ)

ก๊าซ NGV

ก๊าซ NGV หรือเรียกแบบเต็มว่า Natural Gas Vehicle ซึ่งคำนี้เป็นการใช้เรียกในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อเป็นการบ่งบอกให้อย่างชัดเจนว่า จะนำมาเน้นใช้งานกับในยานพาหนะโดยเฉพาะ สำหรับตลาดโลกนั้นเรียกว่า CNG หรือ Compressed Natural Gas เป็นก๊าซธรรมชาติเกิดจากการทับถมของฟอสซิลเหมือนน้ำมันและถ่านหิน แต่อยู่ในรูปก๊าซมีส่วนประกอบหลัก ๆ คือ มีเทน (Methane CH4) ใช้การขุดเจาะเพื่อนำมาจัดเก็บและใช้งาน ไร้สีไร้กลิ่นเช่นเดียวกับก๊าซ LPG เพียงแต่ว่าคุณสมบัติของก๊าซ NGV จะเบากว่าอากาศ จึงมีการลอยขึ้นกระจายไปสู่บรรยากาศได้ง่าย ไม่มีการฟุ้งสะสมในบริเวณพื้นเมื่อมีการรั่วไหลจากถังจัดเก็บ จึงไม่มีการใส่กลิ่นเข้าไปด้วย

NGV เป็นก๊าซที่มีแรงดันสูง ที่ประมาณ 2,200-3,000 PSI หรือประมาณ 20 บาร์ ถังที่จัดเก็บจึงต้องเป็นถังเหล็กขึ้นรูปไร้ตะเข็บที่มีความหนา 8 มม. ขึ้นไป จัดเก็บในรูปแบบก๊าซ ให้ค่าความร้อนอยู่ที่ 35,947 BTU/กิโลกรัม มีจุดเดือดที่ -162 องศาเซลเซียส (น้อยกว่านี้เป็นของเหลว สูงกว่านี้เป็นก๊าซ) มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ราว 650 องศาเซลเซียส

ถ้าให้สรุปกันแบบง่าย ๆ ก็คือ

– ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ มีน้ำหนักมากกว่าอากาศจึงลอยต่ำเมื่อมีการรั่วไหล จึงต้องมีการใส่กลิ่นฉุนลงไปเพื่อให้เรารู้ตัวเมื่อรั่วไหล มีแรงดันต่ำ

– ก๊าซ NGV เป็นก๊าซที่ได้จากการขุดเจาะ มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ กระจายตัวลอยสูงได้ง่าย จึงไม่ต้องใส่กลิ่น มีแรงดันสูง

ปัจจุบันราคาขายปลีกของ LPG อยู่ที่ราว 13 บาท/ลิตร ส่วน NGV ราคาประมาณ 15.62 บาท/ลิตร ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมช่วงแรกที่ทางรัฐบาลประกาศส่งเสริมการใช้งานก๊าซ NGV ถึงมีราคาถูกกว่า LPG มาก (ราคาจำหน่ายช่วงแรกราว 8.50 บาท/ลิตร) เนื่องมาจากช่วงนั้นราคาตลาดโลกของก๊าซ CNG ยังมีราคาต่ำอยู่ และมีการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลเพื่อให้ราคาต่ำอีกด้วย แต่ปัจจุบันราคาของก๊าซ CNG มีราคาสูงขึ้นมาก และรัฐบาลเลิกการสนับสนุนแล้ว ราคาจึงได้ดีดขึ้นมาสูงกว่าก๊าซ LPG อย่างที่เราเห็นอยู่ แต่ถ้าถามว่า แล้วควรใช้ก๊าซตัวไหนดีกว่ากัน อันนี้ต้องบอกตามตรงว่าบอกไม่ได้ เพราะอนาคตของก๊าซทั้ง 2 ตัว ยังไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและราคาตลาดโลกจริง ๆ ครับ

 

 

เครดิต www.autodeft.com