เลิกขับรถไหล่ทาง! หยุดอุบัติเหตุคร่าชีวิต
พฤติกรรมการขับรถบริเวณไหล่ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางหลวงหรือบนทางด่วน รู้หรือไม่ว่านอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตสำหรับเพื่อนร่วมทาง ดังที่มีข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ขับรถไหล่ทางผิดกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 103 ระบุไว้ชัดเจนว่า ไหล่ทางไม่ได้เป็นช่องทางที่ใช้เดินรถ แต่มันคือ ช่องทางพิเศษสำหรับฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเท่านั้น อาทิ รถพยาบาล หรือ รถดับเพลิง รวมถึงเป็นที่สำหรับจอดรถเมื่อมีรถเสีย ฉะนั้นผู้ขับขี่ที่ใช้เส้นทางนี้ถือเป็นความผิดตามกฎหมายชนิดไร้ข้อแก้ตัว
ส่วนกรณีบนทางด่วนพิเศษ ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่การจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเปิดช่องทางพิเศษบริเวณไหล่ทางเพื่อระบายรถ แต่ยังต้องขับอย่างระมัดระวัง และเมื่อการจราจรเข้าสู่ภาวะปกติ รถสามารถทำความเร็วได้ ช่องทางพิเศษดังกล่าว ก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
หยุดพฤติกรรมเปิดช่องทางพิเศษเอง!
ไม่ว่าจะเป็นถนนปกติ หรือทางด่วนพิเศษ นอกเหนือจากช่วงชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความมักง่ายของผู้ขับขี่เองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการเปิดช่องทางพิเศษเอง วิ่งไหล่ทางด้านซ้าย ซึ่งเมื่อมีรถคันแรกขับไปแล้ว รถคันอื่นๆ ก็จะขับตามกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
วิ่งไหล่ทาง กับ แซงซ้าย ต่างกันหรือไม่
หากไล่ดูตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 45 ก็มีระบุไว้เช่นกันถึงเรื่องการแซงว่า ห้ามขับแซงรถคันอื่นทางฝั่งซ้าย เว้นแต่ว่ารถที่กำลังจะถูกแซงให้สัญญาณกำลังจะเลี้ยวขวา หรือถนนดังกล่าวมีช่องทางวิ่งตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป ฉะนั้น ไม่ว่าจะ “แซงซ้าย” หรือ “วิ่งไหล่ทาง” ก็ถือเป็นความผิดเช่นเดียวกัน
ไหล่ทางอันตรายกว่าที่คิด
แน่นอนว่าจากข่าวอุบัติเหตุบนทางด่วนพิเศษที่รถวิ่งไหล่ทางด้วยความเร็วสูง ชนรถที่จอดอยู่บริเวณไหล่ทางของทางด่วน คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่ทำให้ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ความอันตรายของบริเวณไหล่ทางยังมีบางอย่างที่อาจทำให้เกิดเหตุไม่คาดคิดได้อีกเช่นกัน
หากสังเกตกันให้ดี บริเวณไหล่ทางจะเป็นจุดที่สกปรกที่สุดของผิวถนน การวิ่งมาด้วยความเร็วอาจทับให้รถขับทับวัตถุไม่พึงประสงค์ จนทำให้ยางแตกหรือยางระเบิดได้ รวมถึงบางที่อาจมีจุดที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นฝาท่อระบายน้ำ หรือมีแอ่งน้ำ ซึ่งอาจทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำได้เช่นเดียวกัน
เครดิต www.sanook.com