ไขรหัสลับเลขข้างกระป๋องน้ำมันเครื่อง

ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนมีรถ เพราะเมื่อถึงระยะทาง 5,000 – 10,000 กิโลเมตร หรือ 6 เดือน เราจะต้องมีนัดเจอช่างเพื่อเอารถเข้าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะ แต่เรื่องที่ไม่ปกติก็คือเวลาช่างมาถามว่า “เอาความหนืดเท่าไรดี” คำถามง่ายๆ นี้อาจทำเอาหลายคนยืนงงในดงกล้วยไปเลย เพราะไม่รู้จะถามใครต่อดี

รู้จักค่าความหนืดน้ำมันเครื่อง

ถ้าสังเกตดีๆ ที่ข้างกระป๋องน้ำมันเครื่องไม่ว่ายี่ห้อไหนหรือเกรดไหน จะมีตัวเลขแสดงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องระบุชัดเจน โดยตัวเลขนี้คือค่ามาตรฐานน้ำมันเครื่องของสมาคมวิศวกรรมยานยานต์ หรือ Society of Automotive Engineers (SAE) ที่แสดงถึงค่าความหนืดหรือความข้นใสของน้ำมันเครื่อง โดยกำหนดเป็นชุดตัวเลขระบุรายละเอียดที่อุณหภูมิสูงและต่ำ เช่น 5W-30, 10W-40, 15W-40 เป็นต้น

อ่านค่าความหนืดน้ำมันเครื่องอย่างไร

น้ำมันเครื่องที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจะระบุค่าความหนืดน้ำมันเครื่องเป็นแบบเกรดรวม หรือ multigrade คือจะระบุค่าความหนืดด้วยกัน 2 ค่า ตัวอย่างเช่น น้ำมันเครื่อง Dynamic Semi Synthetic จาก PTT Lubricants กระป๋องนี้ มีค่าความหนืดอยู่ที่ 15W-40 จากนั้นให้แยกตัวเลขออกป็น 2 ชุดคือ 15W และ 40

ตัวเลขชุดหน้า 15W” ถ้าสังเกตดีๆ จะมีตัวอักษร W ซึ่งย่อมาจากคำว่า “Winter” เป็นชุดตัวเลขที่ใช้กำหนดค่าอุณหภูมิในเขตเมืองหนาว หรือในกรณีที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ ส่วนตัวเลข 15 ก็คือค่าความต้านทานการเป็นไขนั่นเอง ซึ่งในบ้านเราที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 19-38 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราจึงไม่ต้องสนใจเลขชุดหน้ามาก แต่ถ้าหากเป็นเมืองนอกที่มีอากาศหนาวไปจนขั้นติดลบ ตัวเลขชุดนี้จะมีความสำคัญมากๆ เลยเชียว

ส่วนตัวเลขชุดหลัง คือ “40” ซึ่งแทนค่าความหนืดออกมาเป็นตัวเลข เช่น 60, 50, 40, 30, 20 หรือ 10 โดยค่าตัวเลขยิ่งมากก็จะยิ่งมีความหนืดมาก ตัวเลขนี้จะทำงานเมื่อเครื่องยนต์ร้อนจัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส น้ำมันเครื่องจะมีค่าความหนืดในการมีประสิทธิภาพปกป้องเครื่องยนต์สูงสุดอยู่ที่ 40  อย่างไรก็ตามรถยนต์ที่ใช้งานมาเกิน 100,000 กิโลเมตร บรรทุกหนัก หรือใช้ความเร็วสูงบ่อยๆ ควรเพิ่มค่าความหนืดให้มากขึ้นกว่าตามที่คู่มือระบุจาก 40 เป็น 50 เป็นต้น

ค่าความหนืดสำคัญอย่างไร

เหตุผลง่ายๆ เลย ค่าความหนืดนั้นส่งผลต่อเครื่องยนต์โดยตรง ลองนึกภาพง่ายๆ เมื่อเวลาเราสตาร์ทรถขณะที่เครื่องยนต์ยังเย็นๆ อยู่ หากเราเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่หนืดเกินไป น้ำมันเครื่องก็จะไหลเวียนเข้าไปหล่อลื่นในระบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ในทางกลับกันหากเราเลือกค่าความหนืดที่เหลวเกินไป ในช่วงที่เครื่องยนต์ร้อนจัดน้ำมันเครื่องก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสียดสีของเครื่องยนต์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลไปถึงการสึกหรอของเครื่องยนต์ อัตราเร่ง และการประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย ดังนั้นการเลือกค่าความหนืดน้ำมันเครื่องต้องสอดคล้องกับอุณหภูมิแวดล้อม และลักษณะการใช้งานรถของเราด้วย

 

เครดิต www.mthai.com