5 พฤติกรรมที่คนใช้รถมัก “ลืม” มากที่สุด

 

พฤติกรรมในระหว่างขับรถยนต์ มีหลายสิ่งที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด เสียหาย หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างไม่น่าจะเกิดได้ สิ่งเล็ก ๆ น้อยที่บางคนอาจเห็นว่าไม่จำเป็น แต่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล มาดูว่า 5 สิ่งที่ว่านี้มีอะไรกันบ้าง

1. ไฟเลี้ยว

ไฟเลี้ยวเป็นสิ่งที่สำคัญมากเมื่อในขณะใช้รถ เพราะการส่งสัญญาณให้รถยนต์คันอื่น ๆ ได้รู้ว่ากำลังจะไปทิศทางไหน เพื่อให้รถคันที่ตามมาหรือคันที่สามารถเห็นรถของเรานั้น ระวัง หลีกเลี่ยง และทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น การไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขอทางนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ การมีเรื่องราวทะเลาะกันบนท้องถนน และการเปิดไฟเลี้ยวขอทางก็เป็นมารยาทในการใช้รถอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งการให้สัญญาณไฟเลี้ยว ต้องให้ก่อนที่จะเลี้ยวไม่น้อยกว่า 30 เมตร และให้ผู้ขับขี่ (รถคันอื่น) เห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 60 เมตร

2. เข็มขัดนิรภัย

การคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ได้หมายถึงการทำตามกฎหมายหรือว่าหลีกเลี่ยงการถูก “จับ/ปรับ” จากเจ้าหน้าที่จราจร แต่เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารเองเป็นสำคัญ ในบางครั้งยังคงเห็นพฤติกรรมในการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยหรืออาจเสียบล็อคเข็มขันนิรภัยค้างเอาไว้ โดยไม่คล้องกับลำตัว เพราะเหตุผลที่ว่า “รำคาญ”, “ไม่จำเป็น”, “ไม่มีตำรวจเห็นหรอก” นับเป็นความคิดที่น่ากลัวมาก เพราะการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้จากภายนอก เช่น ขับรถอย่างถูกต้องแต่มีรถเสียหลักพุ่งเข้ามาชนเต็มแรง หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย คนก็อาจกระเด็นหลุดออกมาจากตัวรถก็เป็นได้ ดังนั้น ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถยนต์

3. ล็อคประตู

ในรถยนต์ปัจจุบันระบบการล็อคประตูอาจมีปุ่มกดล็อค/ปลดล็อค หรือว่าใช้กดที่ตัวล็อคโดยตรง ซึ่งจะควบคุมประตูทั้ง 4 บาน โดยรถยนต์บางรุ่นมีระบบ Speed Lock นั่นคือ เมื่อขับที่ความเร็วกำหนดตั้งแต่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ระบบจะล็อคประตูโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับในรถที่ไม่มีระบบนี้ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องล็อคประตูทุกครั้งก่อนขับรถออกไป เพื่อป้องกันอันตรายจากหลาย ๆ สิ่งไม่คาดฝัน เช่น มีเด็ก ๆ เปิดออกมาเอง (กรณีมีเด็กเล็ก รถยน์ส่วนมากจะมีปุ่มล็อคกันเปิดประตูจากด้านในได้อีกด้วย) หรือป้องกันมิจฉาชีพที่อาจเปิดรถเข้ามาจี้ปล้นได้อีกด้วย

4. ไฟหน้า

ในรถยนต์รุ่นใหม่ตรงหน้าปัดมักจะเป็นแบบ “เรืองแสง” หรือว่ามีไฟสว่างออกมาจนบางครั้งผู้ขับขี่เองอาจลืมไปว่ายังไม่ได้เปิดระบบไฟส่องสว่าง เมื่อขับรถในช่วงเวลาพลบค่ำจนถึงมืดแล้ว ก็อาจทำให้เข้าผิดว่าเปิดไฟหน้าเรียบร้อย เนื่องจากไฟบนหน้าปัดสว่างขึ้น วิธีสังเกตุง่าย ๆ หากต้องการดูว่าเปิดไฟหรือไม่ให้ดูที่มาตรวัด หากเปิดไฟแล้วต้องมีรูป “โคมไฟ” ติดขึ้นมา อาจเป็นสีเขียวหรือเหลืองก็แล้วแต่รุ่นรถ ส่วนถ้าติดขึ้นมาเป็นสีน้ำเงินนั้นส่วนมากจะเป็นไฟสูง จึงสังเกตุให้ดีว่าเปิดไฟส่องทางเวลาขับรถกลางคืนแล้วหรือไม่ รวมถึงระวังด้วยว่าเป็นไฟสูงหรือไฟต่ำ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ยามค่ำคืน

5. จอดขวางใส่เกียร์ “P”

กรณีรถยนต์เกียร์อัตโนมัติใส่เกียร์ในตำแหน่ง “P” เมื่อต้องจอดขวางทางหรือหน้าบ้านผู้อื่น ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นทะเลาะกันหรือขึ้นโรงขึ้นศาลก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ  ดังนั้น ข้อนี้ผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติต้องใส่ใจทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องจอดในลักษณะกีดขวาง ควรเลื่อนเกียร์ลงมาตำแหน่ง “N” ยกเว้นในรถบางรุ่นที่มีระบบป้องกันติดมาจากโรงงานก็ควรเลือกที่จอดที่ปลอดภัยและไม่กีดขวางผู้อื่น เพราะเรื่องการจอดรถขวางแล้วใส่เกียร์ “P” นั้นถึงขั้นยิงกันมาแล้วหลายราย!!
การขับรถยนต์นั้นสิ่งสำคัญที่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอคือ “สติ ไม่ประมาท” คิดถึงผู้ร่วมทางบนท้องถนนให้มาก ๆ และอาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้มากมายที่ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องใส่ใจและระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ทุก ๆ ชีวิตที่ร่วมทางครับ
เครดิต www.checkraka.com