รับมือเชื้อ Covid-19 ภายในรถ ทั้งเช็ดด้วยน้ำยา ฟอกอากาศ รังสี UV
ไม่มีสถานการณ์ไหนที่ตึงเครียดเท่ากับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 ซึ่งความน่ากลัวของเชื้อดังกล่าวจะไม่ได้มาจากการกระจายของละอองอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่เชื้อไปอยู่ในมือแล้วสัมผัสกับวัตถุต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในฝูงชนที่แออัด
ถึงแม้ว่าภายในรถยนต์ส่วนตัวจะเป็นอะไรที่ดูปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะดูเหมือนไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะภายในรถเองก็เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เชื้อรา และไวรัส รวมไปถึงเป็นสถานที่ปิด อากาศจะหมุนเวียนจำกัดอยู่ภายใน หากเวลามีใครคนใดคนหนึ่งจามหรือไอ อากาศกับเชื้อก็จะอยู่ภายในรถ อีกทั้งการสัมผัสบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของผู้ที่อยู่ในรถก็มีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่ติดมาจากมือด้วยเช่นกัน ในบทความนี้จะมากล่าวถึงการทำความสะอาดภายในรถ ซึ่งมี 2 แบบหลัก ๆ ด้วยกัน
การเช็ดด้วยน้ำยา เป็นวิธีเบสิกสำหรับการบำรุงรักษารถ ซึ่งในการทำความสะอาดด้วยการเช็ดนั้น จะต้องวางลำดับความสำคัญของอุปกรณ์ที่ใช้มือจับบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมือจับเปิดประตูด้านนอก-ใน-ฝากระโปรงท้ายรถ, บานประตู, พวงมาลัย, หัวเกียร์, ปุ่มกดแผงคอนโซล, สวิตซ์ต่าง ๆ, ช่องแอร์, แผ่นบังแดด, คันเบรกมือ, สาย-ปุ่มกดที่เข็มขัดนิรภัย, ที่ปรับเบาะนั่ง, หมอนรองศีรษะ, เบาะนั่งหน้าหลัง เป็นต้น
แน่นอนว่าการเช็ดเพื่อฆ่าเชื้อนั้นควรใช้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคที่สูง โดยที่ไม่ทำลายวัสดุพื้นผิวรถที่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยา หรือคาร์แคร์ที่น่าไว้วางใจ และไม่ควรเช็ดแบบเปียกชุ่มจนก่อให้เกิดอัตรายในระบบวงจรไฟฟ้าหรือวัสดุเหล็กที่อาจจะก่อให้เกิดสนิมได้
การฟอกอากาศ ในปัจจุบัน รถยนต์หรู ๆ และรถยนต์ระดับกลาง ๆ เริ่มมีการติดตั้งระบบฟอกอากาศภายในรถ พร้อมเทคโนโลยีฆ่าเชื้อโรคในตัว แต่หากคุณขับรถรุ่นเก่า หรือรถยนต์คอมแพ็คที่ยังไม่มีออพชั่นนี้อยู่ในรถ การซื้อเครื่องฟอกอากาศก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ แถมมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก ตั้งแต่รูปทรงกระบอก ไปจนถึงรูปทรงกล่องขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานควรคำนึงถึงการหาซื้อแผ่นกรองอากาศ HEPA สำรองที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด และมีคุณภาพที่ดีมีมาตรฐาน
ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้รถที่มีระบบฟอกอากาศ ก็ควรเพิ่มลิสต์สำหรับตรวจสภาพรถเอาไว้ด้วยเพราะจะต้องมีการซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนที่ฟอกอากาศให้ทำงานได้สมบูรณ์แบบด้วย
สเปรย์ฆ่าเชื้อ อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย และน่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการใช้สเปรย์ฆ่าเชื้อในอากาศ ซึ่งภายในรถเป็นสถานที่ปิดและมีจำกัด การฉีดสเปรย์จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการกำจัดเชื้อโรคภายในอากาศ แถมยังมีกลิ่นและราคาที่หลากหลายด้วย แต่ก็ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป หรือใช้ในขณะที่มีคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ที่อยู่ในรถด้วย
การใช้รังสี UV ในปัจจุบัน โคมไฟ UV-C แบบพกพาเริ่มใช้งานอย่าแพร่หลาย สำหรับการฉายแสงในห้องเล็ก ๆ อุปกรณ์ไอที ในตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ ไปจนถึงสามารถรองรับการใช้งานในรถยนต์ได้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อในอากาศ ไปจนถึงการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวได้ หากอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสม แม้ว่าในเวลานี้จะยังไม่มีรถยนต์ที่ติดตั้งหลอดไฟ UV-C จากโรงงานเนื่องจากมีอันตรายสูง แต่การใช้โคมไฟ UV-C แบบพกพา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ ถ้าใช้งานอย่างถูกต้อง เหมาะสม
การใช้แสง UV-C ฆ่าเชื้อโรคในรถนั้นจะต้องศึกษาการจัดมุมกระทบของแสง เพื่อการตกกระทบของแสงมีความกว้างมากที่สุด ไปจนถึงระยะเวลาการฉายแสงไม่ให้นาน หรือฉายถี่เกินไปจนส่งผลเสียต่อวัสดุภายในรถ นอกจากนี้หากมีหลอดหรือเป็นโคมขนาดใหญ่ ไม่ควรฉายแสง UV-C ขณะมีผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร สัตว์เลี้ยง และควรฉายแสงในที่ร่มด้วย เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารก็ต้องดูแลรักษาตัวเอาไว้เป็นลำดับแรกจะเป็นการดีที่สุด ทั้งการไม่เดินทางในที่แออัดหรือสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ไวรัส หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย, พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์, ทานร้อน ช้อนกลาง และรักษาสุขภาพให้ดีที่สุดร่วมด้วย
เครดิต www.mthai.com