ขับรถจนความร้อนพุ่ง มันจะเกิดจากสาเหตุไหนได้บ้าง?

อาการเครื่องยนต์ Overheat คืออาการที่เราไม่ควรมองข้ามเลย เพราะเมื่อไหร่ที่เข็มดีดขึ้นไปเกินกว่าปกติ ปกติไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของเกจ์ หรือถ้าคันไหนไม่มีเกจ์ความร้อน ก็ให้ดูไฟกระพริบสีแดงคล้ายรูปของขีดปรอทบนหน้าปัด ถ้าเห็นเมื่อไหร่ให้รีบนำรถเข้าสู่ข้างทาง หาที่จอดในที่ปลอดภัยทันที แล้วทำการดับเครื่องยนต์ เปิดฝากระโปรงทันที แต่ “ห้าม” เปิดฝาหม้อน้ำโดยเด็ดขาด เพราะน้ำภายในจะมีแรงดันสูงมาก จนทำให้น้ำภายในพุ่งออกมาสร้างอันตรายแก่ผู้ที่อยู่บริเวณนั้นได้ จากน้ำให้ประเมินปัญหาเบื้องต้นก่อนว่ามาจากอะไร เพราะบางอาการเรายังสามารถรอจนเครื่องเย็นแล้วสตาร์ทรถขับไปยังอู่ที่ใกล้ที่ใกล้ที่สุดได้อยู่ เช่นพัดลมเสีย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นอาการอื่นเช่น หม้อน้ำรั่ว ไม่มีน้ำอยู่ในระบบ หรือประเมินไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร ให้เรียกหายานแม่อย่างรถสไลด์เอาไปส่งอู่ได้เลย อย่าทู่ซี้ขับไปต่อ เพราะถ้าฝืนขับไปต่อ ความร้อนอาจไปทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ ทั้งฝาสูบ ปะเก็น จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ยิ่งถ้าใช้จนเครื่องดับแล้วล่ะก็ เรื่องซ่อมจะกลายเป็นมหากาพย์ไปในทันที ดังนั้นตัดไฟแต่ต้นลม อย่าเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายดีกว่าครับ หาทางพารถไปซ่อมให้เร็วที่สุด ด้วยวิธีที่ปลอดภัยที่สุดดีกว่าครับ

 

หม้อน้ำรั่ว

หลักการระบายความร้อนจากตัวเครื่องยนต์ ก็คือการใช้น้ำเป็นตัวช่วยระบายความร้อน โดนเอาน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำว่าเครื่องยนต์เข้าไปวิ่งวนรอบจุดที่เกิดความร้อนสะสม และระบายเอาน้ำนั้นออกมาลดอุณหภูมิที่ภายนอกในหม้อน้ำ แล้วนำน้ำกลับเข้าไปรับความร้อนใหม่ วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวนำความร้อนดันไม่มี ก็ย่อมทำให้การระบายความร้อนของเครื่องยนต์ไม่เกิดขึ้นด้วย ทำให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์ทะลุขีดจำกัดได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วในระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ถ้าทำงานสมบูรณ์ ตัวน้ำจะแทบไม่หายไปเลยด้วยซ้ำ เพราะระบบจะเป็นกึ่งปิด ไม่มีการระบายน้ำออกไปด้านนอกได้เลย ดังนั้นการที่น้ำหายไปแสดงว่าต้องมีจุดรั่วออกได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตัวหม้อน้ำเอง, ท่อยาง หรือแม้กระทั่งฝาหม้อน้ำที่ยางเสื่อมสภาพ โดยทั่วไปสามารถสังเกตุเองได้จากรอยสีเขียวหรือแดงของน้ำยาหล่อเย็น ที่มักจะเกิดเป็นคราบให้เห็นได้เลยว่าน้ำรั่วออกมาจากจุดไหน ถ้ารั่วที่ท่อยางด้านบนก็อาจจะซื้อมาเปลี่ยนเองได้ หรือมีรอยที่ฝาหม้อน้ำก็ซื้อมาเปลี่ยนเองได้เลยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นจุดอื่นเช่นที่ตัวหม้อน้ำ หรือท่อยางที่อยู่ต่ำลงไปจนทำเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยความชำนาญของช่างตามศูนย์บริการหรืออู่ทั่วไปให้ทำการแก้ไขให้แล้วล่ะครับ

วาล์วน้ำเสีย

ภายในระบบระบายน้ำ จะมีวาล์วที่คอยทำการเปิดปิดน้ำให้ไหลเข้าไประบายความร้อนภายในเครื่องยนต์ได้ โดยเริ่มต้นสตาร์ทเครื่องยนต์ตัววาล์วจะทำการปิดน้ำไม่ให้ไหลเวียนได้ เพราะต้องการสะสมความร้อนให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับการทำการทำงาน (เย็นไปเครื่องยนต์จะทำงานได้ไม่ดีที่สุด เกิดความเสียหายได้ง่าย) และเมื่อไหร่ที่เครื่องยนต์เริ่มทำงานจนมีความร้อนมากเกินกำหนดแล้ว วาล์วน้ำจะทำการเปิดขึ้นเพื่อนำน้ำเข้าไประบายความร้อนออกมา แต่เมื่อไหร่ก็ตามถ้าวาล์วตัวนี้เกิดเสีย ไม่ยอมเปิดขึ้นมา น้ำก็ไม่สามารถเข้าไประบายความร้อนออกมาได้ เครื่องยนต์ก็จะมีความร้อนสะสมสูง จนทำให้เครื่องเกิดอาการน็อคได้ ดังนั้นถ้าเครื่องความร้อนขึ้น แต่น้ำในหม้อยังมีในระดับปกติ พัดลมทำงานปกติ ก็สันนิษฐานเอาไว้เบื้องต้นได้เลว่าอาจจะเป็นที่วาล์วน้ำเสียครับ

หม้อน้ำตัน

หม้อน้ำคืออุปกรณ์หลักที่ช่วยระบายความร้อนออกจากตัวน้ำที่ไหลผ่านช่องเล็ก ๆ ภายใน แล้วถูกเป่าให้เย็นลงด้วยลมจากพัดลมและจากภายนอก ซึ่งช่องทางเดินน้ำเล็ก ๆ นี่แหล่ะที่อาจจะมีการอุดตันจากเศษต่าง ๆ เช่นตะกรัน, เศษผงจากชิ้นส่วนภายใน หรือการใช้น้ำที่ไม่สะอาดมากพอก็เป็นได้ เมื่อน้ำไม่สามารถไหล่ผ่านช่องเล็ก ๆ ภายในหม้อน้ำได้ ก็หมายถึงการระบายความร้อนออกจากตัวน้ำก็แย่ลง น้ำที่กลับเข้าไปสู่รอบเครื่องยนต์ที่ต้องทำหน้าที่ลดความร้อนก็จะยังคงร้อนอยู่ การลดความร้อนก็จะทำได้แย่ลง เมื่อนานเข้าก็ทำให้ความร้อนสะสมภายในเครื่องยนต์มากขึ้น จนเกิดอาการเครื่องดับตามมาได้ ดังนั้นถ้าเราเริ่มเห็นน้ำภายในหม้อน้ำมีตะกอนวิ่งอยู่ภายในแล้วล่ะก็ ให้ประเมินเบื้องต้นได้เลยว่าหม้อน้ำอาจจะตันได้ครับ

พัดลมเสีย-ไม่มีแรง

การที่จะระบายความร้อนออกจากน้ำที่วิ่งมาผ่านที่หม้อน้ำได้ หลักการคือต้องใช้ลมที่วิ่งผ่านหม้อน้ำเพื่อให้ความร้อนออกจากน้ำให้ได้ไวและมากที่สุด เวลารถวิ่งไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะลมจากภายนอกที่เข้ามาปะทะที่หม้อน้ำนั้นมักจะเพียงพอในการระบายความร้อนอยู่แล้ว แต่เมื่อรถวิ่งไม่ได้ ก็ต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างลมได้อย่างพัดลมหม้อน้ำ จะมาในรูปแบบของพัดลมไฟฟ้าหรือพัดลมที่หมุนตามการหมุนของเครื่องยนต์ก็ตาม โดยพัดลมจะเริ่มทำงานเมื่อเครื่องยนต์เริ่มมีความร้อนมากขึ้น และวาล์วน้ำเริ่มทำงานแล้ว เพื่อเป่าเข้าที่หม้อน้ำเพื่อระบายความร้อนออกจากน้ำให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พัดลมตัวนี้เกิดอาการเสีย ทั้งหยุดหมุนเลยหรือหมุนได้เบา ไม่สามารถสร้างลมแรงมากพอจนระบายความร้อนไม่ได้ ความร้อนสะสมก็เพิ่มขึ้นตามมาทันที วิธีการดูง่ายที่สุดคือการเปิดฝากระโปรง สตาร์ทรถแล้วเปิดแอร์ ถ้าไม่มีการทำงานของพัดลม ก็เตรียมตัวเปลี่ยนได้เลย แต่ถ้าเกิดมีพัดลม 2 ตัว ให้เปิดแอร์สตาร์ททิ้งไว้สักครู่ ถ้าพัดลมแอร์ติดตัวเดียว อีกตัวไม่ติดสักที แสดงว่าเสียไปแล้วล่ะครับ คงต้องเปลี่ยน

แต่ก็มีพัดลมอีกประเภทที่เราเรียกว่าฟรีปั๊ม โดยพัดลมตัวนี้จะติดอยู่ที่หน้าเครื่องยนต์ และทำงานทันทีเมื่อเครื่องยนต์สตาร์ท ส่วนใหญ่แล้วพัดลมประเภทนี้จะอยู่บนเครื่องยนต์แบบขับเคลื่อนล้อหลังหรือขับเคลื่อน 4 ล้อ หลักการทำงานก็คือ ใบพัดจะหมุนตามแกนการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ในพูเลย์ที่เกาะกับใบพัด ภายในจะมีน้ำมันซิลิโคน (Oil silicone หรือเรียกกันทั่วไปว่าน้ำมันฟรีปั๊ม) ซึ่งน้ำมันตัวนี้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิปกติ จะมีความเหลวจนทำให้การหมุนของพัดลมนั้นเบา แต่เมื่ออุณหภูมิมากขึ้น ตัวน้ำมันฟรีปั๊มจะมีอาการหนืดมากขึ้น จนทำให้ไปดึงพัดลมให้หมุนด้วยความเร็วที่สูงกว่าเดิม แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำมันตัวนี้เสื่อมสภาพ มันจะไม่เกิดอาการหนืด พัดลมเลยไม่มีการหมุนรอบที่มากขึ้นตามอุณหภูมที่สูงขึ้นได้ ความร้อนก็เลยสูงขึ้นตาม วิธีการตรวจสอบง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเราวิ่งมาจนเครื่องร้อนได้ประมาณหนึ่งแล้ว ให้ทำการดับเครื่องแล้วเอามือไปลองหมุนที่ตัวพัดลมดู ถ้าหมุนได้ง่าย ไม่มีความหนืดหรือหนืดน้อย แสดงว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนน้ำมันฟรีปั๊มใหม่แล้วล่ะครับ

ปั๊มน้ำพัง

ภายในระบบหม้อน้ำ จะมีปั๊มน้ำที่คอยทำหน้าที่พัดน้ำจากตัวหม้อน้ำให้วิ่งเข้าไปสู่รอบเครื่องยนต์เพื่อทำการระบายความร้อนออกมา โดยตัวปั๊มน้ำจะมีเป็นเหมือนใบพัดคอยปั่นน้ำให้วิ่งเข้าไปจุดที่ต้องการได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ปั๊มน้ำเริ่มงอแง ไม่สามารถพัดน้ำเข้าไปได้มากตามที่ควรจะเป็น ทั้งตัวใบพัดสึกก่อนหรือแตกหัก ลูกปืนแตก หรือปั๊มน้ำรั่ว ล้วนแต่เป็นอาการที่ทำให้เกิดความร้อนของเครื่องยนต์ได้เสมอ ดังนั้นถ้าเจออาการปั๊มน้ำเสีย ให้รีบเปลี่ยนทันทีครับ

 

ถ้าเราใช้งานรถยนต์แบบประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ย่อมต้องมีระบบระบายความร้อนกันอยู่ทุกคันอยู่แล้ว เพราะเครื่องยนต์ที่มีการจุดระเบิดอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ย่อมต้องมีความร้อนสูงมากสะสมอยู่ภายใน ต้องอาศัยการระบายความร้อนให้ลดลงอยู่เสมอ แต่เมื่อคราใดที่สัญญาณอันตรายบ่งบอกว่า ความร้อนของรถยนต์เราเริ่มสูงขึ้นเกิดพิกัด จนทำให้เกิดอันตรายต่อเครื่องยนต์ได้ คงต้องมาวิเคราะห์กันแล้วว่ามันมาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง วันนี้เรามาดูสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้กันทั่วไปดีกว่าครับ

เครดิต www.autodeft.com