รถอายุเกิน 7 ปี จะต่อภาษีรถยนต์ ต้องตรวจสภาพรถก่อน ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก

ในแต่ละปี เราๆ ท่านๆ มีหน้าที่เสียภาษีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาษีส่วนบุคคล ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีป้ายและอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนผู้ที่มีชื่อครอบครองรถยนต์ หรือมีรถยนต์เป็นของตัวเอง ก็ต้องเสียภาษีรถยนต์ประจำปีกันด้วย ถ้าไม่เสียภาษีรถยนต์ประจำปี ก็มีสิทธิที่จะถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจับและปรับเอาได้ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะทำให้ถูกต้องตามกฏหมาย

การต่อภาษีรถยนต์ ถ้าอายุรถของคุณเกิน 7 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถ้ารถคุณอายุไม่เกิน 7 ปี การต่อภาษีก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่คุณต้องมี หลักฐานการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่ง พ.ร.บ. คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการใช้รถนั่นเอง และเพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที เมื่อบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่า ปลงศพ กรณีเสียชีวิต นั่นเอง และ เล่มทะเบียนรถยนต์ของคุณ หรือ จะเป็นสำเนาการจดทะเบียนรถยนต์ก็ได้  แต่สำหรับรถที่ติดตั้งระบบแก๊สมาต้องมี ใบติดตั้งแก๊ส แนบมาด้วย เอกสารเพียงเท่านี้สำหรับรถที่อายุไม่เกิน 7 ปี แต่ถ้ารถที่มีอายุเกิน 7 ปี ต้องมี ใบผ่านการตรวจสภาพรถยนต์ เพิ่มเข้ามาอีก 1 ใบ เอาแล้วไงพอมีใบตรวจสภาพรถยนต์ขึ้นมา ทีนี้ปัญหาเกิดเลย แล้วเราจะไปเอา ใบตรวจสภาพรถที่ไหน ยุ่งยากหรือเปล่า แล้วเราตรวจอะไรบ้างละ วันนี้เราได้นำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน

การตรวจสภาพรถยนต์ที่อายุเกิน 7 ปีขึ้นไป ก็ไม่ยาก เพียงแค่คุณขับรถไปที่สถานตรวจสภาพรถยนต์ โดยสถานตรวจสภาพรถยนต์นี้มีให้ตรวจหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น สถานตรวจสภาพรถยนต์ในขนส่งต่างๆ ทั่วประเทศ เรามักจะเรียกติดปากว่า ตรวจใน โดยอัตราค่าบริการในการตรวจรถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท แต่ถ้ารถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท ส่วนอีกหนึ่งที่ก็คือ ตรอ. สถานตรวจสภาพรถเอกชน ซึ่งจะถูกเรียกติดปากว่า ตรวจนอก นั้นเอง ส่วนราคาค่าบริการในการตรวจ ก็แล้วแต่ ตรอ. ที่นั้นๆ ว่าจะคิดราคาเท่าไหร่

อ้าว…ในเมื่อ 2 สถานที่ตรวจแบบนี้ แล้วมาตรฐานจะเหมือนกันเหรอ ตอบเลยว่า เหมือนกันเพราะว่า ตรอ. นี้จะ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เสียก่อน ถึงจะสามารถเปิดทำการ ตรวจสภาพรถได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราตรวจ ตรอ. แล้วเราจะสามารถต่อภาษีได้ไหม บอกเลยว่าต่อได้สบายมาก ส่วนขั้นตอนในการตรวจสภาพรถนั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูกัน โดยทีมงานนำรถไปตรวจที่ ตรอ. แถวๆ บ้าน

อันดับแรกที่เจ้าหน้าที่จะตวจก็คือ เลขของเครื่องยนต์ ซึ่งเลขเครื่องต้องตรงกับที่แจ้งจดทะเบียนไว้ ถ้าใครเปลี่ยนเครื่องมาก็ต้องจัดการแจ้งเครื่องออก แจ้งเครื่องเข้าและลงในเล่มทะเบียนหน้ารถด้วย เพื่อจะให้เจ้าหน้าที่เช็คความถูกต้องได้

ต่อมาเป็นการเช็ค เลขแชสซี หรือเลขตัวถังรถ โดยรถที่มีคัสซีก็จะดูที่ตัวเลขแชสซี แต่รถบางรุ่นไม่ได้ใช้แชสซีแล้วก็ให้ดูที่ เลขตัวถังรถแทน โดยที่เลขตรงนี้ ของรถแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ จะอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันออกไป ซึ่งตรงจุดนี้เจ้าหน้าที่จะดูว่า เลขแชสซี หรือเลขตัวถัง ในรถรุ่นนั้นๆ ตรงกับที่จดทะเบียนหรือเปล่า นอกจากจะตรวจวัดเลขแชสซีแล้ว ต้องตรวจดูโครงแชสซีว่า บิดเบี้ยวเสียรูปไหม ส่วนตัวถังต้องแข็งแรง ไม่ผุกร่อน หรือฉีกขาด

ต่อมาคือ การตรวจ วัดระดับเสียงของท่อไอเสีย กันต่อ การตรวจวัดระดับเสียงของท่อไอเสียนั้น ต้องสตาร์ทรถให้เครื่องยนต์อยู่ในอุณหภูมิที่ใช้งานปรกติ จากนั้นวางไมโครโฟนระดับเดียวกับปลายท่อ ห่างจากปลายท่อประมาณ 50 ซม. โดยเครื่องวัดต้องขนานกับพื้น และทำมุมประมาณ 45 องศา กับปลายท่อไอเสีย สำหรับเครื่องดีเซล ต้องเร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่ง ส่วนเครื่องเบนซินให้เร่งเครื่องรอบประมาณ 3 ใน 4 ของรอบที่ใช้กำลังม้าสูงสุด โดยค่าเสียงที่วัดได้ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ สำหรับรถยนต์ โดยการตรวจวัดต้องตรวจวัด 2 ครั้ง

จากนั้นมา วัดกันที่ค่าควันดำของเครื่องยนต์ดีเซล โดยที่ ตรอ. ที่เราเข้าไปวัดนี้ใช้การวัดควันดำแบบกระดาษกรอง สอดหัววัดเข้าไปในท่อไอเสีย แล้วเร่งเครื่องอย่างเร็วจนสุดคันเร่ง ในตำแหน่งเกียร์ว่าง แล้วเก็บตัวอย่างควันดำเมื่อเริ่มเหยียบคันเร่งมาวัด โดยการวัดค่าควันดำนี้ ต้องทำ 2 ครั้ง เช่นกัน โดยใช้ค่าที่วัดได้สูงสุด ซึ่งค่าของควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 50 ตามกฏของกรมขนส่ง

สำหรับรถยนต์เครื่องเบนซิน ต้องตรวจวัดค่ามลพิษ (CO, HC)  การวัดก็เหมือนกับการวัดควันดำของเครื่องดีเซล แต่สำหรับเครื่องเบนซินให้รอบเครื่องยนต์เดินเบา และสอดหัววัดเข้าไปในท่อไอเสียให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยค่า CO, HC จะแสดงผลคงที่ ที่เครื่องวัด ให้ทำการวัด 2 ครั้ง แล้วหาค่าเฉลี่ย โดยรถยนต์ต้องมีค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 ส่วนค่าก๊าซ HC ต้องไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน ทั้งนี้ทั้งนั้นจะยกเว้นรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 พ.ย. 2536 ค่าก๊าซ CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 ส่วนค่าก๊าซ HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะลงไปดูสภาพของ ช่วงล่างว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานไหม มีรอยรั่ว รอยซึมหรือเปล่า จุดยึดโช้ค แน่นไหม และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับช่วงล่างทั้งหมดทำงานดีไหม แล้วก็ทำการทดสอบระบบเบรค โดยขั้นตอนการทดสอบเบรคจะเริ่มจากที่ล้อหน้าลงไปในช่องที่ทดสอบ จากนั้นให้เหยียบเบรคเพื่อทดสอบแรงกดของเบรค ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักรถ จากนั้นขยับมาที่ล้อหลังเพื่อทดสอบแรงกดของเบรคมือ ซึ่งแรงกดของเบรคมือนี้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักรถ ตรงจุดนี้เพื่อนๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะที่ ตรอ. นั้น จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นตัววัดเลย มาตรฐานแน่นอน

ต่อมาก็จะตรวจวัด โครมไฟหน้า เริ่มจากจุดรวมแสงของไฟต่ำต้องมีมุมตกไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือไม่น้อยกว่า 20 ซม. ที่ระยะห่าง 7.5 ม. จากโคมไฟหน้า ส่วนจุดรวมแสงไฟสูงต้องไม่เกินแนวขนานกับพื้นระดับและไม่เบนไปทางขวา เพราะถ้าเบนไปทางขวาก็จะแยงตารถคันที่สวนทางกับเรา

หลังจากที่เราตรวจสภาพรถเรียบร้อย ทาง ตรอ. จะมีใบรับรอรายงานผลการตรวจสภาพรถตามกฏหมาย ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่าน เราก็เอาใบนี้แนบไปกับหน้าเล่ม และ พ.ร.บ. รถยนต์ เพื่อไปทำการต่อภาษีรถยนต์ของท่าน เท่านี้ก็เรียบร้อย ไม่ยุ่งยากเลยใช่ไหมละ

 

เครดิต www.boxzaracing.com