“ลูกหมาก” มันคืออะไร? และสำคัญอย่างไร
ลูกหมาก เป็นภาษาช่างทั่วไปแบบไม่เป็นทางการในการเรียกชิ้นส่วนของช่วงล่างรถยนต์ โดยเฉพาะส่วนหน้า ได้แก่ ลูกหมากคันชัก-ไม้ตีกลอง-คันส่งหรือลูกหมากปลายแร็คฯ (แร็คแอนด์พิเนียนนั่นเอง) หรือลูกหมากกันโครง และลูกหมากปีกนกล่าง
ลูกหมาก (Ball joint) นั้นคือ ชิ้นส่วนสำคัญทำหน้าที่รับแรงกระแทก เป็นจุดหมุนให้ระบบช่วงล่างที่ต้องเคลื่อนไหวทั้งแนวขึ้น-ลงหรือหมุนเป็นครึ่งวงกลม ประกอบด้วยท่อนเหล็กที่ออกแบบตามลักษณะการใช้งาน และบูชยางที่เป็นตัวยึดติดกับจุดเคลื่อนที่ต่าง ๆ ของระบบช่วงล่างรถยนต์ ส่วนมากจะถูกติดตั้งบริเวณ ลูกหมากแร็คฯ และปลายแร็คฯ บูชปีกนกตัวล่าง ลูกหมากสำหรับเหล็กกันโคลง เป็นต้น
อาการลูกหมากชำรุดเป็นอยางไร
อาการเริ่มด้วยมีเสียงดังกึก ๆ เวลา ตกหลุม หรือผ่านลูกระนาด เมื่อมีการกระแทกและสั่นสะเทือน ส่งผลให้การควบคุมรถไม่กระชับ มีอาการร่อน หรือขยับพวงมาลัยแล้วมีเสียงและมีระยะฟรีเยอะกว่าปกติ หรือระยะที่หมุนพวงมาลัยแล้วล้อยังไม่หักเลี้ยวตาม โดยสามารถแยกตามจุดที่ลูกหมากชำรุดได้ดังนี้
ลูกหมากแร็คหรือปลายแร็คฯ – อาการคือ มีเสียงดังกึก ๆ ขณะตกหลุม หรือเมื่อขยับพวงมาลัย ลักษณะเหมือนมีอะไรหลุดหลวม มีแรงสั่นสะเทือนมาถึงที่พวงมาลัย หรือลองขับผ่านถนนขรุขระช้า ๆ แล้วปล่อยมือ จะรู้สึกได้ว่าพวงมาลัยจะสั่นและกระเทือนมากผิดปกติ เพราะลูกหมากจุดนี้เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของระบบบังคับเลี้ยว
วิธีตรวจเช็คเบื้องต้น – ลองขับผ่านถนนขรุขระและฟังเสียงพร้อมกับจับอาการสั่นทะท้านบนพวงมาลัย หรือจอดอยู่กับที่แล้วหมุนพวงมาลัย สังเหตุระยะความฟรีของการหมุนและเสียง “กึก” เป็นต้น หากได้เข้าศูนย์บริการให้ขึ้นลิฟท์ยกรถแล้วขยับล้อในลักษณะดันให้เลี้ยวซ้าย-ขวา ว่ามีความหลวมหรือไม่ และใช้มือขยับที่ตัวแร็คโดยตรงว่ามีอาการหลวมหรือไม่
ลูกหมากปีกนกล่าง – อาการคือ จะเริ่มมีเสียงดังเวลาตกหลุม มีอาการร่อนหรือกินเลนเมื่อขับผ่านเส้นแบ่งถนนในขณะขับขี่
วิธีตรวจเช็คเบื้องต้น – เข้าศูนย์บริการยกรถขึ้นขยับล้อดูว่ามีการสั่นหลวมหรือไม่ หรือใช้ไขควงค่อย ๆ งัดที่ตัวชุดลูกหมากปีกนกล่างเบา ๆ ดูว่ามีการขยับตัวมากเกินไปหรือไม่
ลูกหมากกันโคลง – อาการคือ จะมีเสียง “เอี๊ยดอ๊าด” คล้ายมีอะไรเสียดสีกันในขณะที่มีการยุบและยืดตัวของโช้คหรือช่วงล่าง เช่น เวลาขึ้นเนินหรือขับผ่านลูกระนาด และอาจพอจับความรู้สึกได้เมื่อขับขี่ในทางโค้งหรือมีการเปลี่ยนช่องทาง จะรู้สึกว่าไม่มั่นคงเหมือนเดิม
วิธีตรวจเช็คเบื้องต้น – เช้าศูนย์หรือหักเลี้ยวล้อหันออกด้านนอกรถเพื่อดูด้วยสายตาว่าสภาพบูชยางนั้นเปื่อยหรือขาดหรือไม่ และอาจใช้มือจับและโยกดูว่าหลวมมากเกินไปหรือไม่
ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง
การซ่อมบำรุงที่นิยมกันมากที่สุดคือ เปลี่ยนของใหม่ โดยจะเข้ารับบริการศูนย์รถยนต์เองหรือศูนย์บริการที่มีมาตรฐานก็ได้ แต่เน้นว่า “ต้องเป็นของใหม่และแท้เท่านั้น” ของแท้ก็คือ ชิ้นส่วนที่สั่งซื้อจากศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อนั้น ๆ ที่ปั้มตราบริษัทรถยนต์ หรืออะไหล่แท้เทียบ (OEM) ที่โรงงานรับผลิตให้บริษัทรถยนต์และได้รับมาตรฐาน โดยต้องสามารถระบุโรงงานผลิตได้และมีการรับประกันสินค้าด้วย ซึ่งหากราคาอะไหล่แท้ (ที่ปั้มตรารถยนต์) จะอยู่ราว ๆ ชิ้นละ 1,000 บาทขึ้นไปไม่รวมค่าแรงและขึ้นกับรุ่นรถด้วย ส่วนอะไหล่ OEM หรือแท้เทียบนั้นราคาตั้งแต่ 600 – 700 บาทขึ้นไปขึ้นกับรุ่นรถยนต์และยังไม่รวมค่าแรงเช่นกัน (ราคาอะไหล่โปรสอบถามผู้ผลิตและร้านจำหน่ายอีกครั้ง)
นอกจากนี้อาการที่เกิดจากเสียงดังของช่วงล่างยังเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น โช้คอัพเสื่อมสภาพ บูชปีกนก เบ้าโช้ค เป็นต้น และยังมีอีกวิธีที่ตรวจเช็คระบบช่วงล่างได้อย่างง่ายคือ สภาพของดอกยางว่ามีการสึกหรอที่ไม่เท่ากันหรือไม่ เช่น หน้ายางด้านนอกโลนกว่าด้านใน หรือการสึกเป็นจุด ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน การที่ระบบช่วล่างเริ่มมีปัญหานั้น อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ที่มีสเถีรภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางได้ ทำให้สมรรถนะของช่วงล่างลงลด และยังส่งผลต่อชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วยครับ
เครดิต www.checkraka.com