Nissan Skyline เปิดตำนาน จากรุ่นสู่รุ่น ขุมทรัพย์ชั้นเลิศอีกหนึ่งรุ่นของญี่ปุ่น EP.
ถ้าจะเอ่ยถึงรถสปอร์ตของค่าย Nissan ในกลุ่มคนที่ชอบรถ ต้องนึกถึงเจ้า Skyline เป็นแน่แท้ เนื่องจากรถรุ่นนี้ ถือว่าเป็นยนตกรรมชั้นเลิศจากญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมทั่วโลก ทั้งทำเป็นรถแข่งเซอร์กิต หรือรถแข่งดริฟท์ก็มีมาหมดแล้ว ยังเป็นรถที่พระเอกชื่อดังของเรื่อง Fast and Furious ใช้ขับขี่ในหนังจนทำให้โด่งดังเป็นพลุแตกมาแล้ว ในคอลัมน์เกร็ดความรู้คราวนี้เราจะนำเสนอตำนานของ Nissan Skyline ให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน เนื่องจากรถรุ่นนี้ มีออกมาด้วยกันทั้งหมด 13 Generation ด้วยกัน
สำหรับเจ้า Nissan Skyline ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “Nissan Sukairain” เป็นรถขนาดกลางของทางค่าย Nissan ออกสู่สายตาประชาชนครั้งแรกในปี 1957 โดยบริษัท Prince Motor Company หลังจากนั้นอีกประมาณสิบปี ในปี 1967 ทางบริษัทได้เข้ามารวมกับบริษัท Nissan ซึ่งผู้ที่ออกแบบเจ้า Skyline จนโด่งดังมีชื่อว่า “Shinichiro Sakurai” โดยรถ Nissan ไม่ได้จัดจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างเดียว ได้ส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา ใช้ชื่อว่า Infiniti ซึ่งเจ้า Skyline นี้ มีผลิตออกมาจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 13 Generation เรามาทำความรู้จักกับรถแต่ละ Gen กันดีกว่า ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง
Gen แรก Prince Skyline ALSI/BLSI (1957-1963)
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเจ้า Skyline ในยุคแรกถูกผลิตภายใต้โรงงาน Prince Motor Company ทำให้ Skyline Gen แรก มีชื่อว่า Prince Skyline โดย Genแรก เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 1957 เป็นที่รู้จักกันในนาม Skyline ALSI-1 Series เป็นรถ Luxery ของทางค่าย เครื่องยนต์ รหัส GA-30 1,500 ซีซี. แรงม้ามีให้ใช้ถึง 60 แรงม้า ที่ 4,400 รอบ/นาที มีน้ำหนักตัวเพียง 1,300 กิโลกรัม เท่านั้น ในรุ่นแรกมีบอดี้ 2 แบบ คือ แบบ 4 ประตู และสเตชั่นวากอน 5 ประตู ถือว่าเป็นรถครอบครัวระดับหรูอีกหนึ่งรุ่นเลย ซึ่งเจ้า Skyline ไม่ได้ออกรุ่น ALSI-1 Series มาอย่างเดียว ยังได้ออกรุ่น ALSIS-1, ALSID-1 Deluxe, ALSI-2 series ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีออพชั่นที่แตกต่างกันออกไป บางรุ่นอาจจะเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่ ใส่ไฟตัดหมอกเพิ่ม ใส่คิ้วโครมเมียม เป็นต้น เหมือนกับรุ่น S รุ่น Q รุ่น Limited ของรถรุ่นใหม่ๆ ณ ตอนนี้ โดยในรุ่น ALSI-2Series เครื่องยนต์ GA-40 เครื่อง 1,500 ซีซี. เช่นกัน แต่มีแรงให้ใช้ถึง 70 แรงม้า เลยทีเดียว
สำหรับรุ่น BLSI ออกมาในเดือนพฤษภาคม 1961 เครื่องยนต์ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่อง 1,900 ซีซี. มีแรงม้าให้ใช้ถึง 91 แรงม้า เป็นเครื่องรหัส GB-40 OHV 4 สูบ ส่วนในปี 1962 ออกรุ่น S21 ออกมาเป็นเครื่องตัวเดิมแต่ไม่มีสายการผลิตรถ 3 ประตู แล้ว แต่ทำเป็น 5 ประตู แทน ส่วนในรุ่น BLRA-3 Skyline Sport เป็นคูเป้และรถเปิดประทุน โดยเครื่องยนต์เป็นเครื่อง 1,900 ซีซี. GB-40 จากตัวที่แล้วนำมาใส่ในรถรุ่นนี้ด้วย
GEN 2 Prince Skyline S50/ S54/ S57 (1963-1968)
สำหรับ Genสอง ใช้เป็นชื่อรหัส S50 โดยในช่วง Gen 2 มีผลิตออกมาทั้งหมด 3 รุ่น คือ S50/S54/S57 โดยเครื่องยนต์ของรุ่น S50 เป็น เครื่องรหัส G-1 1,500 ซีซี. มีแรงม้าให้ใช้ 68-70 แรงม้า เป็นรถซีดาน 4 ประตู เป็นรถเกียร์ธรรมดา 3 Speed และได้เพิ่มเป็นแบบ 4 สปีด ในปี 1965 ในปี 1966 ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้รถด้วยเกียร์อัตโนมัติ 2 Speed โดยรุ่น S50 มีรุ่นย่อยอีก 3 รุ่น คือ S50-1, S50-2, S50-3 ทั้งหมดนี้ใช้เครื่องตัวเดียวกัน แตกต่างกันตรงที่อุปกรณ์นอกรถเท่านั้น
รุ่น S54 ทาง Prince Motor Company ได้สร้าง Skyline GT ออกมาในเดือนพฤษภาคม 1964 โดยใช้ชื่อรุ่นว่า S54 ภายใต้เครื่องยนต์รหัส G-7 ซึ่งต้องขยายฐานล้อออกมาประมาณ 200 mm. เพื่อวางเครื่อง 6 สูบ ลงทำการแข่งขัน Japanese Grand Prix ในคลาส GT-II ลงขับเคี่ยวกับทาง Porsch ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยวขึ้น ความแรงของเครื่องยนต์ทำให้รถรุ่นนี้ ได้รับความนิยมอีกหนึ่งรุ่น โดยทางฝั่ง South Australian จะเรียกรถรุ่นนี้ว่า GT-A, GT-B ส่วนฝั่งญี่ปุ่นจะเรียกรถรุ่นนี้ว่า S54A-S54B โดยเครื่องยนต์ของเจ้า S54A เป็นเครื่อง 2,000 ซีซี. G-7 คาร์บูเรเตอร์เดี่ยว 6 สูบ 104 แรงม้า ส่วนรุ่น S54B คาร์บูเรเตอร์ 3 ตัว หกสูบ 123 แรงม้า ตัวคาร์บูเรเตอร์เป็น Webber 40DCOE-18 ลิมิเต็ดสลิป เกียร์ Close Ratio 5 Speed เปลี่ยนลูกสูบใหม่ ทำแคมชาฟท์ใหม่ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนระบบเบรกใหม่ ส่วนในตัว GT-A และ GT-B ที่ขายในยุโรปจะเป็นแบบเกียร์ 4 และ 5 Speed
รุ่น S57 รถรุ่นนี้ ออกแบบเป็นรุ่นสุดท้ายของทางบริษัท Prince Motor Company ได้ทำการอัพเกรดเครื่องใหม่ใช้เป็นรหัส G15 OHC 1,500 ซีซี. 88 แรงม้า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบใหม่หมด
GEN 3 Nissan Skyline C10 (1968–1972)
ในปี 1968 Prince เริ่มพัฒนาเจ้า C10 ที่ศูนย์ Ogikubo R&D ของบริษัท ชานเมืองโตเกียว โดยตัว C10 ถูกแยกการแข่งออกอย่างชัดเจนระหว่างรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งตัวแทนจำหน่ายก็จะถูกแบ่งแยกออกไปชัดเจน สำหรับเจ้า C10 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี. OHC G15 4 สูบ ไฟท้าย ไฟเบรกปรับเปลี่ยนใหม่เป็นแบบสี่เหลี่ยม พร้อมออกแบบเส้นสายข้างรถใหม่ หน้าตารถใหม่ ดูดีขึ้น จนมีหลายๆ คนทักว่าไปเหมือน Fiat 2300 ปี 1681
รุ่น 2000 GT-X เป็นรถ 4 ประตู ผลิดออกมาเมื่อปี 1971 ใช้ชื่อรหัสบอดี้ว่า KGC10 โดยเจ้า 2000 GT-X เป็นเครื่อง 2.0L รหัส L20SU เครื่องยนต์ 6 สูบ แชสซีถูกออกแบบใหม่ให้มีขนาดพอเหมาะกับเครื่องยนต์มีแรงม้าให้ใช้ถึง 128 แรงม้า Skyline 2000GT-X (Sedan) รุ่นนี้ออกมาในเดือนกันยายนปี 1971 เรียกชื่อรุ่นนี้ว่า KGC10 2000 GT-X เครื่องยนต์เป็นเครื่อง 2,000 ซีซี. รหัส L20SU เป็นเครื่อง 6 สูบ มาแทนที่เครื่อง G-7 แชสซีออกแบบใหม่เพื่อรองรับขนาดเครื่องที่ใหญ่กว่าเดิม รถรุ่นนี้ออกวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 1972 เป็นการเพิ่มไลน์การผลิตรถซีดานเข้าไปอีกหนึ่งรุ่น และในปี 1970 ได้ออกตัว 2 ประตู คูเป้ รหัส GC10 2000GT ที่ลดกำลังแรงม้าของเครื่องยนต์ลงเหลือ 105 แรงม้า
GT-R ถูกเรียกว่า Nissan Skyline KGC10 GT-X เครื่องยนต์ L20 โดย Skyline GT-R คันนี้เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1969 โดยใช้รหัสบอดี้ PGC-10 ส่วนในรุ่น 2 ประตู คูเป้ รหัสบอดี้คือ KPGC-10 รถรุ่นนี้เรียกอีกชื่อว่า Hakosuka ซึ่งเครื่องยนต์เป็น เครื่อง 2,000 ซีซี. รหัส S20 I6 เป็นเครื่องยนต์ DOHC แบบใหม่ ผลิตแรงม้าได้ถึง 160 แรงม้า และมีแรงบิดที่ 180 นิวตัน-เมตร โดยแรงบิดจะคล้ายกับเครื่องยนต์ตัว GR8 ที่ใช้ในรถแข่ง R380 อีกด้วย
ในปี 1971 ค่าย Nissan ได้นำรถรุ่นนี้ไปปรับแต่ง ถอดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นต่อการแข่งขันออกเพื่อทำการไล่น้ำหนัก ทำให้รถคันนี้มีน้ำหนักที่เบาลง เพื่อลงทำการแข่งขัน และได้สร้างปรากฏการณ์ที่ดี เป็นรถซีดานที่คว้าชัยชนะได้ถึง 33 รางวัล ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี หลังจากที่ลงแข่ง ในปี 1972 ก็ได้ปล่อยรุ่น 2 ประตู คูเป้ ลงทำการแข่งขันด้วยเช่นกัน สามารถคว้าชัยชนะในสนามแข่งได้ไม่น้อยหน้ารถซีดานเลย ด้วยเหตุการณ์นี้ ทำให้รถรุ่นนี้มียอดขายทะลุ 300,000 คัน เลยทีเดียว
Gen 4 Nissan Skyline C110 (1972–1977)
มาถึง Gen 4 ของรถรุ่นนี้กันแล้ว สำหรับ Gen 4 ถูกเรียกว่า C110 และ GC110 เริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่ปี 1972 จนถึงปี 1977 พร้อมทั้งส่งออกไปขายนอกประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Datsun K-Series มีโมเดลให้เลือก 3 รุ่นคือ Datsun 160K, 180K และ 240K
สำหรับรถรุ่นนี้ มีรูปแบบตัวรถทั้งซีดาน 4 ประตู หรือ 2 ประตู Hardtop และ รถ 5 ประตู สำหรับรุ่นนี้ ได้ออกแบบไม่ให้มีเสา C และ D ทำให้กระจกดูเรียบๆ ได้รับอิทธพลการออกแบบจากตัว Citroen SM อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ออกแบบไฟท้ายและไฟเบรกใหม่ พร้อมเทคโนโลยีการควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยเจ้า Nissan Skyline C110 เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “Ken & Mary” หรือ “Kenmeri” เนื่องจากแคมเปญโฆษณาในประเทศญี่ปุ่นในเวลานั้น มีคู่รักหนุ่มสาว (Ken และ Mary) ที่ผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับชนบท โดยตัวโฆษณาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และทำให้ Skyline C110 ขายเป็นจำนวนมากในญี่ปุ่น และรุ่นนี้ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ขายได้ดีที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากรูปทรงของรถรุ่นนี้จะไปคล้ายๆ กับรูปทรงของรถอเมริกันในยุคนั้น และเครื่องยนต์ 6 สูบ 2,400 ซีซี ในรุ่น Datsun240K ทำให้รถรุ่นนี้ ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในออสเตรเลีย
Nissan Skyline 2000GT-R (KPGC110) สำหรับ Skyline GT-R Hardtop ผลิตออกมาในเดือนกันยายน 1972 และหยุดสายการผลิตในเดือนมีนาคม 1973 เนื่องจากช่วงนั้น เกิดเรื่องวิกฤตการณ์น้ำมัน ทำให้ผู้ใช้รถส่วนใหญ่หันไปหาซื้อรถที่ประหยัดน้ำมัน จึงทำให้ความนิยมรถสปอร์ตสมรรถนะสูงลดลง ประกอบกับ Nissan ถอนตัวออกจากการแข่งขัน จึงทำให้ GT-R ในช่วงนั้น กระแสไม่ค่อยดี อีกทั้งไม่ได้ส่งออกไปขายในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย ทำให้เจ้า KPGC 110 GT-RS ผลิตรถออกมาเพียง 197 คัน และขายในญี่ปุ่นเท่านั้น
Gen 5 Nissan Skyline C210 (1972–1977)
มาถึง Gen 5 เป็นรหัส C210/C211 และ GC210 / 211 ซึ่งได้รับความนิยมในปี 1977 สำหรับรถรุ่นนี้ถูฏออกแบบภายใต้พื้นฐาน เครื่องยนต์ 6 สูบ พร้อมขยายฐานล้อและความยาวของตัวรถ นอกจากนี้ ได้ออกแบบเสา C และ เสา D ใหม่ทำให้กระจกด้านข้างรถดูแปลกไปจากรุ่นอื่นๆ ทำให้รถรุ่น C210 และ C211 ออกไปสู่ตลาดยุโรปและเยอรมันเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ในรุ่นนี้ ได้ออกเวอร์ชั่น GT-EX เพื่อมาแทนที่ GT-R ใช้เป็นเครื่องยนต์รหัส L20ET ถือว่าเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ รุ่นแรกที่ใส่เข้าไปในรถยนต์ที่ออกแบบและผลิตขายในประเทศญี่ปุ่น และจะสังเกตได้ว่าเครื่องตัวนี้ เป็นเครื่องเทอร์โบที่ไม่ได้ใช้อินเตอร์คูลเลอร์ และไม่มี Blow Off Valve เพื่อคลายแรงดันส่วนเกินออกมาอีกด้วย มีระบบเกียร์ให้เลือก เกียร์ 4 Speed และเกียร์ 5 Speed หรือจะเป็นเกียร์อัตโนมัติ 3 Speed นอกจากนี้ยังมีเครื่องดีเซลรหัส LD20 2,000 ซีซี. ที่ติดตั้งกับ Skyline Van 200D (VSC211D) มีแรงม้าให้ใช้ถึง 65 แรงม้า ที่ 4600 rpm
ส่วนตัว “T” ที่ตามหลังรหัสเครื่องอย่าง L16T และ L18T ไม่ได้หมายถึงระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ แต่เป็นสํญลักษณ์ที่บอกว่าเครื่องยนต์เหล่านี้ มาพร้อมกับคาร์บูเรเตอร์คู่ เครื่องยนต์ L-Series ถูกเปลี่ยนให้เป็น Z-Series ในช่วงปลายปี 1978 ได้ออกแบบเครื่องรหัส L16 เป็นเครื่องที่ถูกผลิตขึ้มาเพื่อเชิงพาณิชย์เป็น เครื่อง 6 สูบ 2,400 ซีซี. ซึ่งเครื่องตัวนี้ส่งออกไปขายต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีจัดจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น
เครดิต www.boxzaracing.com