การเดินทางการใช้งานรถยนต์ของเรานั้นน่าจะทำให้หงุดหงิดไม่เป็นที่รื่นรมย์อย่างมาก เพราะด้วยอากาศที่ร้อนในบ้านเรา แอร์รถยนต์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็คความผิดปกติอยู่เป็นประจำ เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

แอร์รถไม่เย็นสังเกตได้ด้วยตัวเอง

วิธีการง่ายๆ ในการตรวจเช็คแอร์รถยนต์ของเรานั้น เพียงการเปิดแอร์ในรถตามปกติ หรืออาจจะปรับระดับพัดลมที่ประมาณระดับความแรงที่ 3 (ไม่ปรับระดับที่แรงสูงสุด) โดยระดับความเย็นปกติไม่เกินลูกศรชี้ 12 นาฬิกา หากเป็นระบบอัตโนมัติ ก็ให้เปิดแอร์ในระดับความเย็นปกติ 23-25 องศา

จากนั้นให้ใช้มืออังที่บริเวณช่องปรับอากาศว่ารู้สึกถึงความเย็นหรือไม่ สังเกตดูว่าในแต่ละช่องปรับอากาศภายในรถมีช่องใดช่องหนึ่งผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าแอร์ไม่เย็นอาจเกิดปัญหาที่ตัวน้ำยาแอร์ก็เป็นได้ หรือในรถบางรุ่นที่มีฮีตเตอร์ควรตรวจเช็คให้ดีว่าคุณได้เปิดให้ช่องปรับอากาศนั้นๆ ปล่อยความเย็นหรือความร้อนออกมา

แล้วมีสาเหตุอะไรบ้าง? ที่ทำให้แอร์รถไม่เย็น

  1. พัดลมระบายความร้อนไม่ทำงาน ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น พัดลมแอร์รถอาจจะเสีย รังผึ้งสกปรกมากเกินไป หรือมีอุณหภูมิสูงเกินไป
  2. น้ำยาแอร์ขาด สามารถสังเกตได้ที่บริเวณไดเออร์ที่มีลักษณะคล้ายตาแมว เพื่อดูระดับของน้ำยาแอร์ได้ โดยเมื่อเปิดการทำงานกดปุ่ม A/C แล้ว จะเห็นการไหลของน้ำยาแอร์ แสดงว่ายังปกติ แต่หากไม่พบแสดงว่าน้ำยาแอร์หมดแล้วนั้นเอง
  3. คอยล์เย็นรั่ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แอร์รถไม่เย็น ส่งผลทำให้น้ำยาแอร์รั่ว การแก้ไขจึงต้องเปลี่ยนคอยล์เย็นใหม่
  4. ท่อต่างๆ เกิดการรั่วซึม โดยเฉพาะท่อน้ำยาแอร์ นับเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แอร์รถไม่เย็น หรือเย็นผิดปกติไปจากเคย เราจึงต้องหมั่นสังเกตรอยรั่วของท่อต่างๆ อยู่เสมอ
  5. คอมเพรสเซอร์แอร์แบบลูกสูบเสื่อม หรือหมดอายุ ส่งผลทำให้กำลังอัดลดลง น้ำยาแอร์วิ่งได้ไม่เต็มที่ จนทำให้แอร์รถไม่เย็นเหมือนเดิมได้
  6. ชุดวาล์วหรือชุดไดเออร์อุดตัน สังเกตได้จากการไหลของระดับน้ำยาแอร์ เมื่อผิดปกติจะพบว่าเกิดฟอง หรือมัวๆ ขึ้นที่จุดนี้
  7. หน้าคลัตช์จับไม่สนิทหรือหน้าคลัตช์ลื่น อาจมีสาเหตุมาจากระบบไฟฟ้าทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือแผ่นหน้าคลัตช์ที่ไม่เรียบนั้นเอง
  8. สายพานแอร์หย่อน อาจก่อให้เกิดเสียงดังได้ เราจึงควรต้องตรวจเช็คจุดต่างๆ โดยรอบ เช่นจุดยืดคอมเพรสเซอร์แอร์ว่ามีตำแหน่งชำรุดหรือไม่ด้วย และเมื่อพบความผิดปกติควรรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด

หลากวิธีถนอมแอร์รถยนต์

  1. สตาร์ทเครื่องยนต์ก่อนแล้วจึงค่อยเปิดแอร์ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยถนอมระบบแอร์โดยเฉพาะคอมเพรสเซอร์ หากแต่ว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เป็นระบบ AUTO ก็สามารถที่จะเปิดการทำงานแบบอัตโนมัติได้เลย เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถในแต่ละรุ่น ซึ่งสามารถที่จะเปิดระบบปรับอากาศอัตโนมัติไว้ได้เลยไม่ต้องคอยเปิด-ปิด
  2. ปรับระดับของพัดลมและความเย็นให้สัมพันธ์กันในรุ่นแอร์ปกติไม่ใช่ระบบ AUTO ซึ่งหากปรับระดับพัดลมต่ำ แต่น้ำยาแอร์สูง จะสังเกตเห็นได้ว่ามีไอเย็นออกมา ซึ่งอาจส่งผลทำให้ระบบแอร์เป็นน้ำแข็งภายใน นำไปสู่ความเสียหายของแอร์ในรถได้
  3. ปิดกระจกให้สนิทลดภาระในการทำงานหนักของระบบแอร์ และอาจก่อให้เกิดไอน้ำขึ้นในช่องแอร์ได้
  4. ปิดสวิทซ์ A/C ก่อนดับเครื่องยนต์จอดรถประมาณ 3 นาที พร้อมกับการเปิดระดับพัดลมแรงสุด เพื่อเป็นการไล่น้ำในช่องแอร์นั้นเอง

การทำความสะอาดล้างแอร์รถยนต์ เป็นการล้างแอร์เพื่อเอาสิ่งสกปรกต่างๆ ในระบบออก สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีการหลักๆ ได้ดังนี้

1. ล้างแอร์รถยนต์แบบไม่ถอดตู้แอร์ จะเป็นการตรวจสอบเข้าไปหลังแผงคอยล์เย็นด้วยกล้อง จากนั้นจะใช้ท่อแรงดันสูงฉีดน้ำเพื่อทำความสะอาดคราบสกปรกต่างๆ ให้หลุดออกจากแผง หลังจากนั้นจะมีการใช้น้ำยาทำความสะอาดฉีดเข้าไปทิ้งไว้เพื่อละลายคราบสกปรก และต่อด้วยการฉีดล้างออกมาอีกครั้ง ระดับความสะอาดจะน้อยกว่าแบบถอดตู้แอร์ แต่ใช้เวลาสั้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่า และค่อนข้างสะดวกกว่า

2. ล้างแอร์รถยนต์แบบถอดตู้แอร์ เป็นวิธีการที่สามารถล้างแอร์ได้สะอาดที่สุด แต่ต้องมีการรื้อชิ้นส่วนต่างๆ ในรถ รวมไปถึงคอนโซลหน้ารถออกมา จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้บริการร้านที่น่าเชื่อถือและมีประสบการณ์ เพราะการรื้อคอนโซลอย่างไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

แอร์รถจึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และเราควรต้องหมั่นสังเกตและดูแลแอร์รถยนต์อยู่เสมอ รวมไปถึงการเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุกๆ 10,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 6 เดือน และควรล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการบำรุงรักษาและทำความสะอาดระบบแอร์ให้พร้อมใช้งาน ช่วยลดความเสี่ยงที่แอร์รถจะไม่เย็นได้ ซึ่งเราอาจเพิ่มอากาศที่บริสุทธิ์ภายในห้องโดยสารได้ด้วยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในรถเข้าไปเพิ่มเติม เพราะเมื่อบรรยากาศในรถดีแล้ว ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารก็จะมีความสุขได้ตลอดการเดินทาง…

 

 

เครดิต www.autodeft.com