ด้วยเงื่อนไขของพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกกำลังตระหนักในยุคปัจจุบัน ทำให้รูปแบบของน้ำมันดีเซล มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยจากเดิมที่ใช้เป็นน้ำมันดีเซล 100% ก็มีการนำน้ำมันที่สกัดจากพืชผลทางการเกษตร เช่น ปาล์ม (ส่วนหลัก) ข้าวโพด รำข้าว ถั่วเหลือง เป็นต้น มาเป็นส่วนผสม เพื่อลดการใช้ปริมาณน้ำมันดีเซลลง พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พืชผลทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ซึ่งอัตราส่วนในการผสมระหว่างน้ำมันดีเซล และน้ำมันจากพืชผลทางการเกษตรนั้น ก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น ดีเซล B10 ในอัตราส่วนทั้งหมด ก็จะมีน้ำมันจากพืชผลทางการเกษตรผสมอยู่ 10%, ดีเซล B20 คือ มีส่วนผสมของน้ำมันจากพืชผลทางการเกษตร 20% ใน 1 ลิตร นั่นเอง ซึ่งน้ำมันดีเซลที่ผ่านการผสมในอัตราส่วนต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามักคุ้นกันในชื่อ น้ำมันไบโอดีเซล
น้ำมันไบโอดีเซล เป็นที่แพร่หลายในวงการน้ำมันบ้านเราอยู่พักใหญ่ๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า วงการน้ำมันดีเซลในประเทศไทย มีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญในทุกสถานีบริการน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. 2563 เรื่องการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันในกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปแนวทางเดียวกันกับนโยบายของรัฐบาล โดยจะเปลี่ยนชื่อเรียก จาก ดีเซล B10 เป็น ดีเซล และจาก ดีเซล เป็น ดีเซล B7 ส่วน น้ำมันดีเซลพรีเมี่ยม จะถุกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น น้ำมันดีเซลพรีเมี่ยม B7 พร้อมกันนี้ ยังได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 อีกด้วย
มาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนสงสัย ว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนชื่อเรียก น้ำมันดีเซล ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนของผู้ใช้ เหตุผล คือ เปลี่ยนเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการน้ำมันดีเซลเมืองไทย ซึ่งคำว่า ดีเซล ที่จะใช้เรียกกันในอนาคต จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า นี่คือ น้ำมันดีเซล B10 อันเป็นมาตรฐานของน้ำมันดีเซลในยุคปัจจุบัน ส่วนน้ำมันดีเซล B7 ที่เคยเป็น น้ำมันดีเซล มาตรฐานเดิม จะได้รับการปรับให้เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่า ที่ยังไม่รองรับ น้ำมันดีเซล B10 หรือ ดีเซล นั่นเอง เช่นเดียวกับ น้ำมันดีเซลพรีเมี่ยม B7 ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลสมรรถนะสูง
น้ำมันดีเซล กับมาตรฐานในยุค 2020 อาจสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ไปบ้างในระยะแรกเริ่ม แต่หากทำความคุ้นเคยไปสักระยะหนึ่ง ก็เชื่อได้ว่าผู้ใช้น่าจะเกิดความคุ้นเคย เช่นเดียวกับคำว่า “เจ็บและชินไปเอง” ในไม่ช้า ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว จะเปลี่ยนชื่ออย่างไรก็ช่าง แต่แค่ว่า…อย่าอัพราคาให้แพงจนเกินไปก็คงจะเพียงพอ
เครดิต www.boxzaracing.com