ถ้าจะพูดถึงเกจ์วัดต่างๆ ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการแต่งรถ ก็จะหาเกจ์วัดยี่ห้อต่างๆ ตามความชอบและกระแสมาใส่เข้าไปในรถตัวเอง บางคนก็ติดเข้าไปเพราะคำว่า “ของต้องมี” บางคนก็ติดตั้งเพิ่มเข้าไปเพื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์ แล้วแต่เหตุผลของแต่ละคน ซึ่งเกจ์วัดแต่ละตัว ก็จะมีหน้าที่ ที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูประโยชน์ของการติดตั้ง เกจ์วัด Water Temp กันดีกว่า


หน้าที่ของ เกจ์วัด Water Temp คือ อ่านค่าความร้อนของน้ำหล่อเย็นที่วนอยู่ภายในเครื่องยนต์ของเรา ว่ามีอุณหภูมิเท่าไหร่ หลังจากที่ไหลวนออกมาจากเครื่องยนต์ อุณหภูมิเป็นปกติ หรือสูงไปหรือปล่าว โดยส่วนใหญ่ค่าความร้อนของน้ำหล่อเย็นของรถยนต์รุ่นนั้นๆ ความร้อนของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 90-105 องศาเซลเซียล ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ณ ตอนนั้น รถติดหรือเปล่า หรือว่ารถวิ่งไปเรื่อยๆ เกจ์วัดของรถยนต์ที่วิ่งอยู่กันบนท้องถนน จะไม่สามารถทราบเป็นองศาได้ (ถ้าไม่ติดเกจ์วัด) จะมีเพียงแค่ขีดบอกระดับความร้อน หรือที่เราเรียกว่า เกจ์ความร้อน โดยเกจ์ที่ติดมากับรถ จะบอกองศาแบบคร่าวๆ ที่หน้าปัดเฉยๆ ถ้าเข็มของเกจ์วัดอยู่กึ่งกลางของเกจ์วัด ถือว่าอุณหภูมิปกติ แต่ถ้าเข็มดีดสูงไปทางตัวอักษร H แสดงว่าน้ำหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่สำหรับรถรุ่นใหม่บางรุ่น ก็จะไม่มีเกจ์วัดความร้อนบอกมา แต่จะเห็นเป็นสัญลักษณ์รูปปรอทสีแดงโชว์ขึ้น ในกรณีที่ความร้อนเกินค่าที่โรงงานกำหนด

ตรงจุดนี้เอง ถ้าผู้ที่ใช้รถทั่วไปสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของเข็มวัดความร้อน ก่อนที่เข็มจะดีดขึ้นไปถึงตัว H (Heat) แสดงว่าค่าน้ำในระบบหล่อเย็นอุณหภูมิสูงผิดปกติ หรือต้องมีระบบอะไรเกี่ยวกับน้ำมีปัญหา ทำให้ความร้อนขึ้นสูง อย่างที่บอกถ้าสังเกตเห็นได้เร็วและจอดรถทัน อาการเสียหายของเครื่องยนต์ก็จะน้อยลง ซ่อมแซมได้ทัน แต่ถ้าไม่ทันสังเกต หรือเห็นไม่ทัน ความเสียหายของเครื่องยนต์ก็จะมีมากขึ้น บางเหตุการอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องเลยก็ได้

จึงได้มีคนคิดค้นเจ้า เกจ์วัด Water Temp ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งตัวของเกจ์วัด Water Temp จะทำหน้าที่อ่านค่าของอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น ว่าอุณหภูมิของน้ำของรถคุณอยู่ที่เท่าไหร่ บางรุ่นจะสามารถเตือนเป็นเสียงหรือแสงไฟ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึงค่าที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นสูงขึ้น ก็มีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหม้อน้ำรั่วบ้าง พัดลมหม้อน้ำพังบ้าง วาล์วน้ำเสียบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราสังเกตเห็นได้ก่อน ก็จะลดอาการเสียหายของเครื่องยนต์ไปได้มาก จึงได้คิดค้นและออกแบบ เกจ์วัด Water Temp ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้

โดยทั่วไปจะติด เกจ์วัด Water Temp 1 ตัว เอาไว้ที่ท่อน้ำออกจากเครื่องยนต์มาที่หม้อน้ำ เพื่อเช็คค่าของน้ำหล่อเย็น ว่าออกจากเครื่องยนต์มีอุณหภูมิเท่าไร แต่ถ้าเป็นรถที่เปลี่ยนเครื่องมา ทั้งเครื่อง N/A และเครื่องเทอร์โบก็ควรที่จะติดตั้งเข้าไป 2 ตัว ตัวแรกติดตั้งเอาไว้ที่ท่อน้ำออกจากเครื่องยนต์เข้าหม้อน้ำ ส่วนอีกหนึ่งตัวติดตั้งเอาไว้ ที่ท่อน้ำออกจากหม้อน้ำเข้าสู่เครื่องยนต์

 ทำไมเราถึงต้องติด 2 ตัว (แต่ต้องยี่ห้อเดียวกันนะ) เรามาหาเหตุผลกัน เราเริ่มจาก จุดแรกคือ น้ำที่ออกจากหม้อน้ำมาถ้าอากาศถ่ายเทได้ดี หม้อน้ำไม่รั่ว ไม่ตัน อุณหภูมิควรจะอยู่ที่ประมาณ 80-90 องศา หรือต่ำกว่านิดหน่อย แสดงว่าอุปกรณ์ในระบบระบายความร้อนทำงานได้ดี พัดลมหม้อน้ำทำงานปกติ ทำให้อุณหภูมิน้ำไม่สูง ก่อนจะเข้าเครื่องยนต์

ส่วน จุด 2 คือ ที่ท่อน้ำออกจากเครื่องยนต์เข้าหม้อน้ำ ติดตั้งตรงนี้จะบอกว่า อุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงแค่ไหน ระบบน้ำที่ไหลเวียนอยู่รอบเครื่องมีปัญหาไหม ยิ่งถ้าเป็นเครื่องเทอร์โบที่ใช้บูสต์สูงๆ หรือปรับบูสต์เพิ่ม ควาามร้อนสะสมของเครื่องยนต์ยิ่งสูงตามบูสท์เทอร์โบ ถ้าระบบน้ำหล่อเย็นไม่ดี มีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนขึ้นได้ ความร้อนสูงมากไป เครื่องยนต์ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และจะพาเครื่องยนต์พังได้ง่ายๆ ด้วย

โดยส่วนใหญ่ อุณหภูมิของน้ำ 2 จุดนี้ ต้องแตกต่างกันไม่เกิน 10-20 องศาฯ ขึ้นอยู่กับการปรับแต่งเครื่องยนต์หรืออากาศที่ไหลผ่านหม้อน้ำ อุณหภูมิน้ำที่ออกจากเครื่องต้องสูงกว่า อุณหภูมิน้ำที่ออกจากหม้อน้ำ เพราะถ้าน้ำที่เข้าเครื่องสูงกว่าแสดงว่ามีชิ้นส่วนเกี่ยวกับหม้อน้ำมีปัญหา พัดลมพัง หม้อน้ำรั่ว หม้อน้ำตัน หรืออากาศไม่สามารถไหลผ่านระบายความร้อนหม้อน้ำได้เต็มที่

นี่คือ หน้าที่ของเกจ์วัด Water Temp ซึ่งน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่จะหามาติดตั้ง หรือคิดจะติดตั้งเพิ่มเข้าไป ในยุคปัจจุบันนี้ มีเกจ์วัดออกมาให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ราคาหลักพันต้นๆ ไล่ไปถึงพันปลายๆ บางรุ่นบางยี่ห้อก็เสียบเข้าไปที่ปลั๊ก OBD-II ได้เลย คราวหน้าทีมงานจะมี เกร็ดความรู้ อะไรมาให้เพื่อนๆ ได้ดูได้ชมกันอีกต้องติดตามกันนะ

 

 

เครดิต www.boxzaracing.com