การนั่งขับรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ขับขี่ได้ โดยเฉพาะความเคยชินทำให้เรานั่งขับรถผิดท่า ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยตัว หรือบางครั้งก่อให้เกิดอุบุติเหตุได้ง่าย ดังนั้น เราควรปรับท่านั่งขับรถให้ถูกต้อง

ท่านั่งขับรถแบบไหน ไม่ปวดหลัง

การปรับท่านั่งขับรถให้ถูกต้อง มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ดังนี้

  • การปรับเบาะรถ (Seat) ควรปรับเป็นอันดับแรกทั้งระยะห่างและความสูงต่ำของเบาะรถให้พอดีกับผู้ขับขี่ การปรับระยะห่างของเบาะรถ ควรปรับระยะของเบาะให้เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ขับขี่โดยนั่งให้กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Spine) ชิดกับเบาะพอดี เท้าสามารถเหยียบแป้นเบรคได้จนสุด และเข่าสามารถงอได้เล็กน้อยในขณะเหยียบเบรค (ประมาณ 120 องศา) หากปรับเบาะให้ไกลเกินไปทำให้ผู้ขับขี่ต้องเหยียดขามากขึ้น อาจทำให้เหยียบแป้นเบรคไม่เต็มที่ ทั้งยังส่งผลต่อวิสัยทัศน์ในการขับขี่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
  • การปรับพนักพิง (Backrest) ขณะนั่งขับรถแผ่นหลังของผู้ขับขี่ควรติดพนักพิงเสมอ ควรปรับพนักพิงให้เอียงประมาณ 20-30 องศา หากปรับพนักพิงในระดับที่เหมาะสม ข้อมือจะสามารถแตะกับพวงมาลัยได้พอดี แต่ถ้าวางแล้วเลยตำแหน่งของข้อมือเข้ามาแสดงว่าปรับความเอียงของพนักพิงน้อยเกินไป ทำให้ผู้ขับขี่นั่งชิดจนเกินไป อาจทำให้ต้องงอเข่ามากขึ้นหรือหากปรับพนักพิงห่าง ขณะเหยียบเบรคจะต้องออกแรงเหยียบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เข่าต้องรับแรงกดมากขึ้น อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการปวดเข่าตามมาได้

  • การปรับหมอนรองศีรษะ (Head restraints) หมอนรองศีรษะมีหน้าที่รองรับการกระแทกบริเวณ ศีรษะขณะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้ศีรษะสะบัดไปทางด้าน หลังอย่างรุนแรงซึ่งอาจทำให้กระดูกคอเป็นอันตรายได้ การปรับหมอนรองศีรษะควรปรับให้อยู่กลางตำแหน่ง ศีรษะพอดี
  • การปรับระดับพวงมาลัย (Steering wheel) ผู้ขับขี่ควรปรับระดับความสูงของพวงมาลัยให้ขนานกับหลัง ไม่ควรปรับให้สูงหรือต่ำเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าในการขับรถระยะทางไกล ขณะจับพวงมาลัยข้อศอกควรงอทำมุมประมาณ 120 องศา และจากจุดศูนย์กลางของพวงมาลัยถึงบริเวณหน้าอกของผู้ขับขี่ควรมีระยะห่างประมาณ 10 นิ้ว หรือ 30 เซนติเมตร
  • การปรับที่วางแขน (Armrests) หากในรถยนต์มีการติดตั้งที่วางแขน หรือที่พักแขน ผู้ขับขี่ควรปรับที่วางแขนให้อยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม สามารถวางข้อศอกได้พอดี ไม่ควรปรับให้สูงจนเกินไปเพราะจะทำให้ต้องยกไหล่ขึ้นตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณไหล่และคอตามมาได้

ทั้งนี้ นอกจากการปรับท่านั่งให้เหมาะสมแล้ว การบริหารร่างกายด้วยท่าต่างๆก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการปวดหลังและอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ เช่น ในช่วงการจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ผู้ขับขี่สามารถทำท่าบริหารคอและข้อเท้าได้ หากสามารถปฏิบัติได้เท่านี้ ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดหลังจากการขับรถได้อย่างแน่นอน

 

 

เครดิต www.autospinn.com