การเลือกรถที่ถูกใจ อาจไปทดลองเทส์ตไดร์ฟ ติดตามข่าวสาร อ่านรีวิว หรือแม้แต่เปิดตำราหาสีถูกโฉลก ก่อนขับรถใหม่ป้ายแดงออกจากโชว์รูมนั้น คงเป็นเรื่องที่มือใหม่หัดขับทั้งหลายคุ้นชินกันแล้ว แต่รู้หรือไม่ การเป็นเจ้าของรถคันโปรดหรือรถในฝัน ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นคำถามคาใจของใครหลายคน และเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ คือการวางแผนสินเชื่อ

5 คำถามคาใจ แนะ “มือใหม่หัดเช่าซื้อ”

  • ดาวน์ 0% ดีไหม 

แน่นอนว่าเมื่อเห็นโปรโมชันดาวน์ 0% มักล่อตาล่อใจ เพราะออกรถได้โดนไม่ต้องใช้เงินสักบาท แต่อย่าลืมคิดถึงค่างวดผ่อนชำระต่อเดือนที่อาจสูงลิบ เพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และจะคิดดอกเบี้ยจากราคารถทั้งหมด รวมถึงส่วนใหญ่มักให้ผ่อนชำระไม่เกิน 48 งวด ลองคิดเล่นๆ หากซื้อรถราคา 600,000 บาท ด้วยเงื่อนไขดาวน์ 0% ผ่อน 48 เดือน ค่างวดรถจะอยู่ที่ 14,995 บาท* แต่ถ้าหากอดทนเก็บเงินดาวน์อีกสักนิด และวางเงินดาวน์ 25% จะทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง และค่างวดรถจะอยู่ที่ 10,233 บาท* เรียกว่าเหลือเงินค่างวดไปทำอย่างอื่นได้สบาย

  • ดอกเบี้ย “คงที่” หรือ “ลดต้นลดดอก” กันแน่ 

ตามหลักเกณฑ์แล้วการเช่าซื้อรถ มีการคิดคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินต้นแบบ “คงที่” (คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระทั้งหมดเท่ากันทุกงวด ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจนถึงวันที่ผ่อนเสร็จ) แต่มีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแบบ “ลดต้นลดดอก” (จำนวนดอกเบี้ยที่ชำระในแต่ละงวดจะลดลง) ดังนั้น เมื่อผ่อนชำระงวดแรกๆ ยอดเงินที่จ่ายไปส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ย และงวดหลังๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการชำระเงินคืนต้น จึงไม่ต้องตกใจเมื่อเห็นยอดเงินต้นคงเหลืออยู่เยอะ แม้ว่าจะทยอยผ่อนไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ ในการทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงิน จะมีตารางที่แจกแจงค่างวดและดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ไว้อ้างอิงอย่างครบถ้วนอยู่แล้ว

  • คนค้ำยังจำเป็นไหม

สิ่งนี้ต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่ามีความสามารถพอกับภาระหนี้ต่อเดือนหรือไม่ เพราะสถาบันการเงินยุคนี้มองที่ตัวบุคคลเป็นหลัก เงื่อนไขไฟแนนซ์ปรับเปลี่ยนได้ตามโปรไฟล์ผู้กู้ หากมีรายได้หลายทาง ทำงานหลายอาชีพ จะงานประจำหรืองานฟรีแลนซ์ มีรายได้เพียงพอแน่นอน ยื่นไฟแนนซ์ไป ยังไงคนค้ำก็ไม่จำเป็น แต่หากคุณยังมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ การมีคนค้ำประกันก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ต้องนึกถึงเมื่อต้องเช่าซื้อรถ

  • ประกันภัยแบบไหนที่ต้องทำ 

เมื่อเป็นมือใหม่ ประกันภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยปกติเมื่อซื้อรถยนต์ป้ายแดง ผู้เช่าซื้อจะได้รับประกันภัยทั้งภาคบังคับตามกฏหมาย (พ.ร.บ.) และภาคสมัครใจ คือ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เป็นของแถมให้อยู่แล้ว แต่เมื่อขึ้นปีที่สอง จะต้องจ่ายเบี้ยต่อประกันภัยเอง ซึ่งประกันภัย พ.ร.บ. ที่เป็นภาคบังคับนั้น อยู่ที่ 645.21 บาท ราคาเดียวทุกรุ่น ทุกแบรนด์ ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจ สามารถเลือกประเภทหรือรูปแบบความคุ้มครองได้เองตามต้องการ นอกจากนี้ ใครที่อยากอุ่นใจเพิ่มขึ้น สามารถเลือกประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (PPI) เพิ่มเติมไว้อีกฉบับก็ได้ โดยบริษัทประกันจะรับผิดชอบการชำระค่างวดที่เหลือทั้งหมด ในกรณีที่ผู้กู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต แต่ประกัน PPI จะต้องทำไว้ตั้งแต่เริ่มสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น

  • อยากปิดยอด ต้องทำไง 

หากใครที่มั่นใจว่าผ่อนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 งวด อย่าคิดว่าไฟแนนซ์รถเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราไปตลอดจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา เพราะอยากปิดบัญชีเมื่อไหร่ ทำได้ทันที และยังได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 50% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อแบบลดต้นลดดอกที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระอีกด้วย แต่แนะนำให้เช็กยอดรวมที่ต้องชำระเมื่อวันปิดบัญชีที่แน่นอนก่อน อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดค้างชำระ หรือค่าธรรมเนียม รวมอยู่ด้วย จะได้ประเมินว่าเงินที่เตรียมไว้ปิดยอด เพียงพอหรือไม่

ใครที่คิดจะออกรถใหม่สักคัน ยังมีตัวแปรอีกมากมาย ทั้งค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าภาษีประจำปี ค่าอุปกรณ์แต่ง ค่าประกันภัย เอาเป็นว่าเลือกคันที่ใช่ ศึกษาข้อมูลให้เข้าใจ แล้วใช้เงื่อนไขไฟแนนซ์ที่ชอบ จะตอบโจทย์ที่สุด แน่นอนว่าเมื่อมือใหม่หัดเช่าซื้อพร้อม สถาบันการเงินก็พร้อมให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบอยู่แล้ว

 

ที่มา กรุงศรี ออโต้

เครดิต www.autospinn.com