จากข้อมูลด้านการเคลมของ ไดเร็ค เอเชีย พบว่าในช่วงครึ่งปี 2564 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์2+, ชั้น 2, ชั้น 3+ และชั้น 3 ที่เกิดอุบัติเหตุและได้เข้าแจ้งเคลมกับเจ้าหน้าที่ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น 19% จากปี 2563 สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงมากกว่าปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ถึงแม้ประเทศไทยจะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดที่ส่งผลให้การเดินทางลดน้อยลง แต่อุบัติเหตุยังถือว่ามีจำนวนไม่น้อยและยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บสะสมสูงถึง 570,071 ราย และเสียชีวิต 8,776 ราย โดยอุบัติเหตุมากกว่า 90% มีสาเหตุมาจากผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท และ 28% เกิดจากปัจจัยด้านถนนทั้งนี้ปัจจัยด้านอื่น ๆ
ยังมีผลต่ออุบัติเหตุด้วย เช่น ปัญหาไฟส่องสว่าง สัญญาณเตือนทางจราจร หรือป้ายบอกทางเป็นต้น นอกจากนี้ ไดเร็ค เอเชีย ยังเผยข้อมูลด้านการเคลมประกันรถยนต์ของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุ โดยมีจำนวนการแจ้งเคลมหรือแจ้งเหตุฉุกเฉินเกือบ 30,000 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ได้สร้างความเสียหายต่อรถยนต์และผู้ขับขี่โดยประเมินมูลค่าความเสียหายสูงสุดกว่า 498,000 บาทต่อคันเลยทีเดียว
สำหรับอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด ไดเร็คเอเชีย ได้สรุปรวมมาให้ทั้งหมด 5 อันดับ พร้อมข้อควรปฏิบัติของผู้ขับขี่ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้รถใช้ถนนขับขี่อย่างระมัดระวัง และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
อันดับ 1 ขับรถด้วยความประมาทจนชนรถคันอื่น
อันดับ 2 รถเสียหลักพลิกคว่ำ หรือรถตกข้างทาง
อันดับ 3 ขับรถชนต้นไม้หรือทรัพย์สินเนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี
อันดับ 4 หักรถหลบสิ่งกรีดขวางหรือตัดหน้ารถคันอื่นแบบกระชั้นชิด
อันดับ 5 เฉี่ยวชน รวมถึงสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ
รู้ไว้! ช่วยลดภัยทางถนน
จากอุบัติเหตุทั้ง 5 อันดับสะท้อนให้เห็นว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยง รวมถึงทัศนวิสัยและสภาพแวดล้อมของท้องถนนด้วยเช่นกัน แต่สถิติการตายไม่ได้มีไว้ให้ทำลาย ดังนั้น ร่วมกันปรับพฤติกรรมสักนิดเปลี่ยนทัศนคติสักหน่อย ก่อนสตาร์ตรถขับบนท้องถนนควรปฏิบัติดังนี้
ไม่ประมาท
หากผู้ขับขี่มีพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น เล่นมือถือขณะขับรถไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถเร็วเกินกำหนด หรือง่วงแล้วขับ นั่นเป็นสัญญาณของความประมาทเลินเล่อที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่อตนเองและผู้ขับขี่ท่านอื่น ให้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ทั้งก่อนและขณะขับขี่ทุกครั้ง ในกรณีที่ต้องตัดสินใจในสถานการณ์บนท้องถนน ให้คิดก่อนแล้วจึงปฏิบัติ ไม่ควรรีบร้อน และที่สำคัญควรมีสติอยู่เสมอ
ปฏิบัติตามกฎจราจร
สำหรับผู้ที่ใช้รถใช้ถนนมาเป็นเวลานาน อาจเคยชินและไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ อย่างการไม่เปิดไฟเลี้ยวขณะขับขี่ถึงแม้จะเป็นซอยเล็ก ๆ ก็ไม่ควรมองข้ามและสร้างความเข้าใจผิดให้รถคันหลัง รวมไปถึงสัญญาณไฟจราจรที่ส่วนมากยังคงใช้ผิดวิธี
ในความเป็นจริงผู้ขับขี่ควรออกรถเมื่อสัญญาณไฟสีเขียวขึ้น สีเหลืองให้เตรียมหยุดไม่ใช่รีบเร่ง และสีแดงคือให้หยุดหลังเส้นหยุดรถ ที่สำคัญผู้ขับขี่ควรสังเกตป้ายจราจรขณะขับ เพื่อให้แน่ใจว่าจะต้องขับขี่อย่างไรบนเส้นทางที่กำลังเดินทางด้วยเช่นกัน
ทำประกันรถยนต์
อุบัติเหตุบางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากการชนเสมอไป โดยเฉพาะกรณีรถเสียจอดอยู่ข้างทางแล้วเกิดอุบัติเหตุชนซ้ำ นับว่ามีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากถนนหลายเส้นทางในประเทศไทยอาจมีทัศนวิสัยไม่อำนวยต่อการขับขี่มากนัก รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในกรณีฉุกเฉิน ในบางพื้นที่อาจจะยังมีความยากลำบากในการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ
ดังนั้นการทำประกันรถยนต์อาจทำให้ผู้ขับขี่สบายใจหรือปลอดภัยมากขึ้นหากมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้เลือกทำประกันรถยนต์ที่มีการันตีด้านการเคลมที่รวดเร็ว มีอู่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ และมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น รถยก-รถลาก จะช่วยให้ผู้ขับขี่ได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
นอกจากแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุแล้ว ไดเร็ค เอเชีย อยากให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือความปลอดภัยของตัวผู้ขับขี่เอง รวมถึงการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะรถยนต์ที่ไม่ได้ทำประกันภัย อาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาลที่นอกเหนือจากพ.ร.บ.คุ้มครอง และหากโชคร้ายมีผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุร่วมด้วย
ผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบต่อรถคู่กรณีหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลที่สามด้วยเช่นกัน แต่นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจัดงานศพในกรณีเสียชีวิต ค่าประกันตัว หรือค่าดำเนินคดีในกรณีต้องขึ้นศาล ดังนั้นอุบัติเหตุเพียงหนึ่งครั้งอาจมีมูลค่าสูงกว่าค่าเบี้ยประกันหนึ่งปีเสียด้วยซ้ำ หากครั้งนี้ผู้ขับขี่ยังมีเงินในบัญชีเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีอะไรมาการันตีว่าอุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้นอีก คำถามต่อมาคือ ถึงวันนั้นผู้ขับขี่จะยังมีเงินจ่ายไปอีกกี่ครั้ง? หรือต้องสร้างหนี้ก้อนโตไปอีกกี่หน?
เครดิต www.carvariety.com