หลายคนที่มีประสบการณ์ซื้อรถคันแรก หรือมีความลังเลอยู่ระหว่างการตัดสินใจจะซื้อรถไว้ใช้งาน คงเคยได้ยินคำพูดประมาณว่า “นอกเหนือจากค่าผ่อนรถในแต่ละเดือนแล้ว ยังต้องกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถอีกนับไม่ถ้วนเราจึงขอพาคุณผู้อ่านไปรู้จักว่าในแต่ละปีนั้น เจ้าของรถจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอะไรบ้าง?

1. ค่าน้ำมัน

     ค่าน้ำมันถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักแต่ในละเดือนเลยก็ว่าได้ ยิ่งรถที่ประหยัดน้ำมันเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยเซฟค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้มากขึ้นเท่านั้น โดยปัจจุบันมีทางเลือกเพื่อช่วยประหยัดค่าน้ำมันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถยนต์ไฮบริด, การติดตั้งก๊าซ LPG/CNG ฯลฯ อีกทั้งพฤติกรรมการขับขี่ของแต่ละคนยังส่งผลถึงค่าน้ำมันในแต่ละเดือนอีกด้วย

2. ค่าประกันภัย

     หากเป็นประกันภัยชั้น 1 ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการต่อประกันแต่ละปีอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาทสำหรับรถญี่ปุ่น หรือต่ำกว่านั้นหากเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก หากต้องการเซฟค่าใช้จ่ายลงก็สามารถเปลี่ยนเป็นประกันภัยชั้น 2+, ชั้น 2, ชั้น 3+ และชั้น 3 ซึ่งมีความคุ้มครองน้อยกว่าได้

     แต่อย่าลืมว่าหากประสบอุบัติเหตุที่นอกเหนือจากความคุ้มครองขึ้นมาแล้วล่ะก็ ผู้ขับขี่จำเป็นต้องจ่ายส่วนที่เกินขึ้นมาด้วยตัวเอง (เช่น ถูกชนแล้วหนีและไม่สามารถหาคู่กรณีได้)

3. ค่าภาษี และ พ.ร.บ.

     ค่าภาษีรถยนต์ประจำปีขึ้นอยู่กับขนาดของตัวรถ หากเป็นรถขนาด 1,500 ซีซี ก็จะมีค่าภาษีประมาณ 1,600 บาท และ พ.ร.บ. อยู่ที่ประมาณ 6 ร้อยกว่าบาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะป้วนเปี้ยนอยู่ราว 2 พันกว่าบาท

4. ค่าบำรุงรักษาตามระยะ

     ในกรณีรถป้ายแดงควรนำรถเข้ารับบริการตรวจเช็คตามระยะทุก 10,000 กิโลเมตรเป็นประจำ เพื่อให้รถสามารถใช้งานได้อย่างปกติและไม่หลุดวารันตี ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะขึ้นอยู่กับรุ่นรถและระยะที่เข้ารับบริการ อาจมีตั้งแต่พันกว่าบาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับว่าระยะนั้นมีชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน

5. ค่าซ่อมบำรุง

     นอกจากการบำรุงรักษาตามระยะแล้วนั้น หากมีชิ้นส่วนใดเกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพจากการใช้งาน ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นนั้นๆ เพื่อให้รถใช้งานได้ปกติ หากเป็นชิ้นส่วนอยู่ในระยะวารันตีก็จะได้รับการเปลี่ยนฟรี แต่หากเป็นชิ้นส่วนอื่นๆ หรือหมดวารันตีไปแล้ว เจ้าของรถจำเป็นต้องจ่ายค่าอะไหล่และค่าแรงด้วยตัวเอง

     โดยส่วนมากชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ และอยู่นอกเหนือจากการเปลี่ยนตามระยะ ได้แก่ ช่วงล่าง, โช๊คอัพ, แบตเตอรี่, ใบปัดน้ำฝน, ผ้าเบรก, จานเบรก และยาง เป็นต้น

6. ค่าดูแลรักษา

     ค่าดูแลรักษาในที่นี้หมายถึงการรักษาสภาพให้รถดูใหม่อยู่เสมอ เช่น การล้างรถ, ขัดสีรถ, การเคลือบสี-เคลือบแก้ว ฯลฯ รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่ซื้อมาใช้สำหรับรถโดยเฉพาะ เช่น แชมพูล้างรถ, น้ำยาเคลือบเบาะ, อุปกรณ์ดูดฝุ่นในรถ ฯลฯ แม้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ดูเหมือนจะไม่สูงมาก แต่ลองคิดรวมกันในแต่ละปีก็ถือว่าไม่น้อยทีเดียว

7. ดอกเบี้ยเงินผ่อน

     แม้ว่าดอกเบี้ยจะถูกรวมคิดไปในค่างวดของแต่ละเดือนอยู่แล้ว แต่หากเทียบกับคนที่ซื้อเงินสด ก็จะมีค่าดอกเบี้ยที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมาไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ราคา 1,000,000 บาท หากดาวน์ 20% และจัดไฟแนนซ์ 800,000 บาท ผ่อนทั้งสิ้น 60 งวด ด้วยดอกเบี้ย 2.00% จะมีค่างวดอยู่ที่ 14,667 บาทในแต่ละเดือน

     เมื่อนำยอดผ่อนทั้งหมดมาคิดรวมกับเงินดาวน์ที่จ่ายไปในตอนแรกจะเท่ากับ 880,020 + 200,000 = 1,080,020 บาท เท่ากับว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดระยะเวลา 5 ปี อยู่ที่ 80,020 บาท

8. ค่าเสื่อมราคาเมื่อขายต่อ

     อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เจ้าของรถหลายคนต้องน้ำตาตกในก็คือราคาขายต่อนั่นเอง เพราะยิ่งนานไปมูลค่ารถก็จะมีแต่ลดลง หากเป็นรุ่นยอดนิยมในตลาดก็มักได้ราคาดีหน่อย แต่หากรถไม่เป็นที่นิยมในตลาดมือสองนัก ก็มักขายไม่ได้ราคาอย่างที่ตั้งใจไว้

     ทางที่ดีคุณควรใช้วิธีประกาศขายเองบนออนไลน์ จะได้ราคาดีกว่าการขายให้กับเต็นท์มือสอง หรือพ่อค้าคนกลางอยู่พอสมควร

     รู้แบบนี้แล้วก่อนเลือกซื้อรถคันแรก ก็ควรพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาเหล่านี้ด้วยนะครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com