เครื่องยนต์ 6 สูบบล็อควี มีดีกว่า 6 สูบเรียง จริงหรือ ?
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณยุค 80-90 ช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ของเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบเรียงอย่างแท้จริง (เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง เรียกอีกอย่างว่าเครื่อง Inline-6 หรือ I6) ในยุคนั้น…ถ้าใครได้เป็นเจ้าของรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ I6 แล้วล่ะก็ เปรียบเสมือนว่าได้ครอบครองอาวุธสงครามเลยทีเดียว เพราะว่า เครื่องยนต์ประเภทนี้ มาพร้อมกับกำลังมหาศาล แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำได้อย่างสะดวกสบาย หากไม่ซีเรียสในเรื่องอัตราการสิ้นเปลือง (ซึ่งราคาน้ำมันในยุคนั้น ไม่ได้แพงดั่งทองคำเหมือนในปัจจุบัน)
ถ้าพูดถึงเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง ที่ฮิตๆ ในบ้านเราแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าขุมพลังตระกูล JZ ของ Toyota ก็ต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่ต้องถูกเอ่ยขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้น ยังมีเครื่องยนต์นามสกุล RB จากค่าย Nissan ที่กลายมาเป็นเครื่องยนต์ยอดนิยมในหมู่สาวกรถซิ่งที่คลั่งไคล้แรงม้าเป็นชีวิตจิตใจ
แต่เมื่อประมาณ 10 ปี ให้หลังมานี้ เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ต่างเบนเข็มไปพัฒนาเครื่องยนต์ประเภท V-Engine (วี-เอ็นจิน) กันมากขึ้น นั่นทำให้มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาพร้อมกับเครื่องยนต์ “บล็อควี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่อง V6 เช่น เครื่องยนต์ชื่อก้องโลกอย่าง VR38DETT ที่ประจำการอยู่ใน Nissan GT-R R35
เครื่องยนต์ V6 (VR38DETT) ประจำการอยู่ใน Nissan GT-R (R35)
ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสีย ของเครื่องยนต์ทั้ง 2 แบบกันครับ ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิต ค่าบำรุงรักษา รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่องนี้ ถ้าพร้อมกันแล้ว ก็ไปเริ่มกันเลยกับหัวข้อแรก
1) ความสมดุล (Balancing)
โดยปกติแล้ว เครื่องยนต์ที่มี “ความสมดุล” จะหมายถึงเครื่องยนต์ที่มีจำนวนกระบอกสูบเป็นเลขคู่ เช่น เครื่องยนต์ 2 สูบ เครื่องยนต์ 4 สูบ หรือเครื่องยนต์ 6 สูบ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องยนต์ที่ถูกเรียกว่ามีความ “สมดุลโดยธรรมชาติ” (Naturally-Balanced)
ถ้าหากเราลองพิจารณาเครื่องยนต์บล็อควีแล้ว ถึงแม้มันจะมีจำนวนกระบอกสูบทั้งหมด 6 สูบ แต่เนื่องจากว่าในแต่ละฝั่งของเครื่องยนต์ มีกระบอกสูบเพียงแค่ 3 สูบ เพราะฉะนั้น สำหรับเครื่อง V6 มันก็เหมือนการเอาเครื่องยนต์ 3 สูบเรียง มาประกบกันนั่นเองครับ ดังนั้นเครื่องยนต์บล็อควี ไม่ว่าจะเป็น V6 หรือ V8 หรือ V12 ถือว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ “ไม่สมดุล” โดยธรรมชาติครับ สรุป…ในหัวข้อของ “ความสมดุล” เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง จะมีความสมดุลมากกว่าเครื่องยนต์ V6 ครับ
คำถามที่ตามมาก็คือว่า สมดุล…แล้วไง ?
ข้อดีของการที่เครื่องยนต์มีความดุล ประการแรกก็คือ แรงสั่นสะเทือนภายในเครื่องยนต์จะลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออายุการใช้งานในระยะยาวครับ แน่นอนว่า…เครื่องยนต์ที่มีความสมดุลจะมีอายุการใช้งานที่นานกว่า นอกจากนั้น เมื่อเครื่องยนต์มีความสมดุลแล้ว จะส่งผลให้รอบเครื่องยนต์สามารถหมุนได้อย่างราบเรียบ ซึ่งทำให้เครื่องยนต์สามารถใช้งานที่รอบสูงๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) ขนาดของเครื่องยนต์ (Dimensions)
ถ้าเปรียบเทียบกันในหัวข้อนี้ เครื่องบล็อควีได้เปรียบเต็มๆ ครับ เครื่องยนต์สูบเรียงจะมีความยาวที่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นห้องเครื่องยนต์ต้องมีขนาดใหญ่ มากพอที่จะหย่อนเครื่องรูปแบบนี้ลงไปได้ แต่สำหรับเครื่องบล็อควีแล้ว มิติของเครื่องยนต์มีความยาวเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของเครื่องสูบเรียงเท่านั้นเอง แถมยังเตี้ยกว่าเครื่องสูบเรียงอีกต่างหาก (มีผลในเรื่องจุดศูนย์ถ่วง) เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์บล็อควี จึงไม่ต้องการห้องเครื่องขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลดีในแง่ของการกระจายน้ำหนักครับ
เครื่องยนต์ VQ35DE ประจำการอยู่ใน Nissan Fairlady 350Z
เนื่องจากมีขนาดที่กะทัดรัด ส่งผลให้เครื่องยนต์บล็อควี สามารถนำไปติดตั้งแบบวางขวางตัวรถ (Transverse) ซึ่งเป็นเลย์เอาท์ของเครื่องยนต์สำหรับรถขับหน้า เช่น เครื่อง V6 ที่อยู่ใน Honda Accord เป็นต้น
3) น้ำหนักของเครื่องยนต์ (Engine Weight)
เนื่องจากว่าเครื่องยนต์บล็อควี มีการแบ่งกระบอกสูบออกเป็น 2 แถว เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบกลไกเปิด-ปิดวาล์วจำนวน 2 ชุด ผิดกับเครื่องยนต์สูบเรียงที่มีระบบกลไกเปิด-ปิดวาล์วเพียงแค่ชุดเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้…ทำให้เครื่องยนต์บล็อควี มีน้ำหนักกว่าเครื่องยนต์แบบสูบเรียงครับ
นอกจากเครื่องยนต์บล็อควีจะมีน้ำหนักมากกว่าแล้ว ด้วยความที่ว่าต้องใช้กลไกเปิด-ปิดวาล์วทั้ง 2 ฝั่งของกระบอกสูบ เป็นผลให้มีค่าดูแลรักษา รวมไปถึงค่าอะไหล่ที่แพงกว่าเกือบสองเท่าตัวเลยครับ
4) จุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity)
ถ้าเปรียบเทียบหัวข้อนี้ เครื่องยนต์บล็อควีได้เปรียบครับ เนื่องจากว่าเครื่องยนต์บล็อควีจะเอียงกระบอกสูบเพื่อทำมุมตั้งแต่ 60-90 องศา การเอียงกระบอกสูบจะช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจุด CG ของรถยนต์ทั้งคัน
เปรียบเทียบจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์ I6 และ V6
เมื่อรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลงแล้ว จะทำให้มีสมรรถนะในการเข้าโค้งที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ขับด้วยความเร็วสูง ตัวรถจะมีความเสถียรมากกว่าเครื่องยนต์แบบสูบเรียง และเหตุผลในเรื่องของจุดศูนย์ถ่วงนี่เอง ที่เป็นเหตุผลให้ Nissan GT-R R35 เปลี่ยนรูปแบบของเครื่องยนต์จาก 6 สูบเรียง มาใช้เครื่องยนต์ประเภทบล็อควี
5) ต้นทุนการผลิต (Production Cost)
สำหรับต้นทุนการผลิตนั้น เครื่องยนต์สูบเรียงมีต้นทุนต่ำกว่าเครื่องบล็อควีอยู่พอควรเลยครับ เนื่องจากว่าเสื้อสูบของเครื่องยนต์สูบเรียง ผลิตค่อนข้างง่ายและใช้เวลาน้อย ผิดกับเครื่องยนต์ประเภทบล็อควี ที่มีโครงสร้างค่อนข้างซับซ้อน ทำให้ใช้ต้นทุนและเวลาในการผลิตที่มากกว่านั่นเองครับ
นอกจากนั้นแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าเครื่องยนต์สูบเรียงมีชิ้นส่วนภายในที่น้อยกว่า โดยเฉพาะระบบวาล์วไอดี-ไอเสียเป็นแบบชุดเดียว (แคมชาฟท์ชุดเดียว) แต่สำหรับเครื่องยนต์บล็อควีแล้ว ต้องมีระบบวาล์วไอดี-ไอเสียถึง 2 ชุด และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เครื่องยนต์บล็อควี มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเครื่องยนต์แบบสูงเรียงครับ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็คือข้อดี-ข้อเสียของเครื่องยนต์แบบ I6 และ V6 ครับผม…ครั้นจะให้ตัดสินว่า เครื่องยนต์แบบไหนดีกว่ากัน ? ก็คงจะเป็นไปได้ยาก…เนื่องจากว่า เครื่องยนต์แต่ละแบบมีทั้งข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์บล็อกวีจะมีข้อเสียอยู่หลายข้อ แต่เหตุผลที่ทำให้เครื่องยนต์ประเภทบล็อควีได้รับความนิยมมากกว่า ก็เห็นจะเป็นขนาดที่กะทัดรัด และจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาติดตั้งในรถยนต์สมรรถนะสูง
ในขณะเดียวกัน เครื่องยนต์แบบ I6 ก็ใช่ว่าจะสาบสูญหายไปไหน หากแต่ว่าจำนวนของมัน นับวันยิ่งลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกหลายค่ายที่กำลังต่อลมหายใจให้กับเครื่องยนต์ I6 โดยเฉพาะค่ายรถยนต์สมรรถนะสูงจากฝั่งยุโรปอย่าง BMW ที่ยังเชื่อมั่นในสมรรถนะของเครื่องยนต์ I6 ก็คงต้องดูต่อไปเรื่อยๆ ล่ะครับว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เครื่องยนต์แบบ I6 จะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้หรือไม่ ? หรือว่าจะเป็นเครื่อง V6 ที่ขึ้นมาแทน !
เครดิต www.boxzaracing.com