SVOLT มองการณ์ไกลปักหมุดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในไทย รองรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งจีน-ญี่ปุ่น ส่งมอบไตรมาสแรกปีหน้า อนาคตส่งออกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมวางแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่

SVOLT เครือ GWM ปักหมุดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในไทยรองรับรถยนต์ไฟฟ้าจีน-ญี่ปุ่น

มร. หยาง หงซิน ประธานและซีอีโอ สโฟวล์ท เอเนอจี้ เครือเกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดเผยว่า ได้ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบการจัดเก็บพลังงาน ที่จังหวัดชลบุรี ด้วยเงินลงทุน 250 ล้านหยวน หรือ คิดเป็นเงินไทยราว 1,250 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 8 เดือน คาดจะส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567 โดยโรงงานมีกำลังการผลิตระยะแรก 60,000 ชุดต่อปีและสามารถขยายสูงสุดถึง 118,000 ชุดในอนาคต

ทั้งนี้ การผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวจะสามารถรองรับทั้งลูกค้าในท้องถิ่น เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ และลูกค้าอื่นๆ ที่มีศักยภาพทั้งค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน และค่ายรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่น ในอนาคตจะร่วมมือกับบริษัทในไทยเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจด้านการจัดเก็บพลังงานและรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปแผนลงทุนไตรมาส 3 และจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอต่อไป

โรงงานของ สโฟวล์ท ประเทศไทย ได้วางแผนแบ่งสายการผลิตไว้ 2 สาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ

  • เน้นไปที่การผลิตโมดูลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV)
  • เน้นไปที่การผลิตโมดูลและชุดอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV)

ทั้งสองสายงานการผลิตประกอบด้วยเซลล์แบตเตอรี่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะ ทั้งเซลล์แบบ Soft Pouch และเซลล์แบบ Prismatic โดยใช้กระบวนการเชื่อมอัตโนมัติและเครื่องมือตรวจสอบขั้นสูง เพื่อการันตีประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพสูง

ส่งออกแบตเตอรี่ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มร. หยาง กล่าวว่า ได้วางแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก และในอนาคตจะผลิตและส่งออกแบตเตอรี่ไปยังอินโดนีเซีย เวียดนาม พร้อมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย อีกทั้งในอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทวางแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันบางประเทศมีกฎหมายไม่ให้ส่งออกแบตเตอรี่รีไซเคิล หรือบางประเทศไม่ให้นำเข้าแบตเตอรี่รีไซเคิล โดยมีแผนจัดเงินลงทุนตั้งไว้ 2 แบบ

  1. นำแบตเตอรี่มาทำลายเป็นผง แยกทองแดงกับโซเดียมมาใช้ ตัวนี้ต้นทุนจะต่ำหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 20 ล้านหยวนคิดเป็นเงินไทยราว 100 ล้านบาท
  2. นำแบตเตอรี่มาแยกด้วยสารเคมี กลับมาเป็นวัสดุตั้งต้น ตัวนี้ต้นทุนสูงหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 600-700ล้านหยวนคิดเป็นเงินไทยราว 3,000-3,500 ล้านบาท

 

 

เครดิต www.autospinn.com

 

ตัวตึง 2006 มาสด้า BT50 2.5 พาวเวอร์คอมมอนเรลดีเซล