เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมรถกระบะแทบทุกคันในบ้านเราล้วนแต่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขณะที่รถเก๋งกลับนิยมเครื่องยนต์เบนซินมากกว่า บทความนี้ เราจะพาไปหาคำตอบกัน
เหตุผลที่รถกระบะต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซล
สาเหตุที่รถกระบะเหมาะสมกับเครื่องยนต์ดีเซลมากกว่า จำแนกออกเป็น 4 เหตุผลได้ดังนี้
1. แรงบิดสูงกว่า – เครื่องยนต์ดีเซลให้แรงบิดสูงกว่าเครื่องยนต์เบนซินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในรอบเครื่องยนต์ต่ำ จึงสามารถบรรทุกของหนักได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเร่งมากเหมือนกับเครื่องยนต์เบนซิน พูดง่ายๆ คือ เครื่องยนต์ดีเซลให้พละกำลังดีกว่าแม้ว่าจะบรรทุกของหนักก็ตาม
2. ประหยัดน้ำมันมากกว่า – ธรรมชาติของเครื่องยนต์ดีเซลจะมีอัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่าเครื่องยนต์เบนซินภายใต้เงื่อนไขแบบเดียวกัน (เช่น ขนาดตัวถัง, น้ำหนักตัวรถ, ขนาดล้อ ฯลฯ) รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลจึงช่วยเซฟค่าน้ำมันได้มากกว่าเมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ น้ำมันดีเซลยังมีราคาถูกกว่าเบนซินอย่างเห็นได้ชัด โดยราคา ณ ปัจจุบัน (วันที่ 20 ก.ย. 66) น้ำมัน Gasohol 95 มีราคาลิตรละ 40.45 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซล B7 มีราคาจำหน่ายเพียงลิตรละ 29.94 บาท ทั้งยังเป็นน้ำมันชนิดหลักที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่ง ส่งผลให้รัฐบาลมักเลือกที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน เพื่อป้องกันการปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนนั่นเอง
3. ค่าบำรุงรักษาต่ำกว่า – หากมองในระยะยาวเครื่องยนต์ดีเซลจะมีค่าบำรุงรักษาต่ำกว่าเครื่องยนต์เบนซิน เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงทนทานรองรับแรงอัดได้สูง มีจุดซ่อมจุดเสียน้อยกว่า การบำรุงรักษาจึงทำได้ง่ายกว่า และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเครื่องยนต์เบนซินในระยะยาว
4. พละกำลังเหมาะกับตัวถังมากกว่า – รถกระบะถูกออกแบบให้มีขนาดตัวถังที่ค่อนข้างใหญ่ เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ ส่งผลให้ตัวรถมีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย หากใช้เครื่องยนต์เบนซินที่มีแรงบิดน้อย จะทำให้รถอืดและกินน้ำมันมาก รถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินส่วนใหญ่จึงนิยมติดตั้งก๊าซ LPG เพื่อชดเชยกับอัตราสิ้นเปลือง ซึ่งระยะยาวอาจส่งผลให้เครื่องยนต์โทรมมากกว่าปกติ โดยเฉพาะรถที่ใช้งานหนัก วิ่งต่อเนื่องข้ามจังหวัดเป็นระยะทางไกล จึงไม่น่าแปลกใจที่รถกระบะส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เครื่องยนต์ดีเซลแทน
อย่างไรก็ดี เครื่องยนต์ดีเซลก็มีข้อเสียบางอย่างที่ทำให้ผู้ใช้รถเก๋งไม่นิยมเลือกเครื่องยนต์ดีเซล เช่น เสียงเครื่องยนต์ดังกว่า, ราคาค่าตัวสูงกว่า รวมถึงการปล่อยมลพิษที่มากกว่าเช่นกัน
เครดิต www.sanook.com
เทอร์โบ 4JA1 ของแท้ VS เทอร์โบ GZL หน้าตาเหมือนกันมั้ย? ต้องแปลงอะไรเพิ่มรึเปล่า?