หากใครยังพอจำกันได้ ภาพของ แทค-ภรัณยู โพสต์ไอจี ยืนเหยียบรถลัมโบร์กินีคันหรู คู่กับ ดีเจภูมิ ผู้เป็นเจ้าของ กลายเป็นประเด็นดราม่าในชั่วข้ามคืน หลังแฟน ๆ ในโลกออนไลน์กลุ่มหนึ่งท้วงติงเรื่องการไม่เคารพ “แม่ย่านาง” ประจำรถ ส่วนแฟนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อแนวคิดนี้ก็พากันหัวเราะเยาะใส่อย่างสนุกสนาน
ความเชื่อ “แม่ย่ายาง” กับสังคมไทย
ความเชื่อแต่โบราณของสังคมไทยเริ่มมาจากการเดินเรือ ที่เชื่อว่าเรือทุกลำจะมีแม่ย่านางประทับอยู่ โดยทุกครั้งที่ออกเดินเรือก็จะมีการไหว้บูชาเพื่อสวัสดิมงคลต่อการประกอบอาชีพ รวมถึงแม่ย่านางจะช่วยคุ้มครองและปกป้องต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในท้องทะเล ก่อนที่ในเวลาต่อมาความเชื่อนี้ได้สืบต่อมายังการใช้งานยานพาหนะทุกประเภท
ขณะที่ “ต้องจิตต์ ติดจรวด” หมอดูชื่อดังได้เปิดเผยกับ Tonkit360 ถึงความเชื่อนี้ว่า จากที่ตนเองได้ที่ศึกษามา ความเชื่อนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นความเชื่อในการแสดงความเคารพต่ออุปกรณ์ที่ตนเองใช้ทำมาหากินทุกชนิด อาทิ เกวียน เรือ สัตว์ลากจูง รวมถึงอุปกรณ์ทำการเกษตร
ส่วนในบ้านเราเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยากับการเดินเรือ จนมาในยุคหลังถึงเริ่มมีการนำมาใช้กับยานพาหนะอื่น ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ พร้อมมีอุปกรณ์ประกอบพิธีไหว้บูชาและบทสวดด้วย อย่างไรก็ดี คนไทยอีกส่วนใหญ่ในฐานะชาวพุธ อาจไม่ได้บูชาแม่ย่านาง แต่ใช้วิธีอัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็กบูชาในรถ ซึ่งถือเป็นแนวคิดในลักษณะเดียววัน
นักแข่งรถระดับโลกล้วนมีความเชื่อเช่นกัน
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “เดอะด็อกเตอร์” วาเลนติโน่ รอสซี่ ยอดนักบิดแชมป์โลก 9 สมัย ชาวอิตาเลียน ที่ก่อนลงแข่งทุกครั้งเขาจะนั่งลงข้าง ๆ รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจของตัวเอง พร้อมทำสมาธิและอธิษฐานพูดคุยกับรถแข่งทุกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาและรถจะได้สื่อสารกันก่อนลงสนามแข่ง รวมถึงการบรรจงกอดรถแข่งหลังขับคว้าชัยก็เป็นภาพที่แฟนความเร็วได้เห็นจนชินตา
ขณะที่ฝั่งฟอร์มูล่า วัน เซบาสเตียน เวทเทล แชมป์โลก 4 สมัย มีธรรมเนียมปฏิบัติด้วยการตั้งชื่อให้กับรถแข่งที่ตัวเองใช้ในทุกฤดูกาล นับตั้งแต่เข้าสู่วงการรถสูตรหนึ่ง ปี 2008 โดยทุกชื่อเป็นชื่อของสุภาพสตรีทั้งสิ้น ส่วนแดเนียล ริคคิอาร์โด นักขับทีมแม็คลาเรน ก็มีความเชื่อในการไหว้รถและสนามแข่งก่อนลงสนามทุกครั้งเช่นกัน
ไม่เชื่อ ไม่ควรลบหลู่
สุดท้ายประเด็นของการโพสต์รูปของดาราคนดัง จริง ๆ แล้วเชื่อว่าเป็นภาพที่เจตนาออกมาในเชิงสนุกสนาน ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ใด ๆ ทว่าสิ่งที่สะท้อนจากคอมเมนต์ต่อ ๆ กันมา แสดงให้เห็นว่าสังคมโซเชียลยุคนี้พร้อมต่อต้านในสิ่งที่พวกเขาไม่เชื่อ และมองความเชื่อนั้นเป็นสิ่งผิดทันที
อย่างไรก็ดี “ความเชื่อ” ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่คนนั้น ๆ ทำแล้วสบายใจและไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่มีผิด ไม่มีถูกแต่อย่างใด แล้วคุณล่ะ มีความเชื่อแบบไหนกันบ้าง เมื่อขึ้นไปนั่งอยู่หลังพวงมาลัย
เครดิต www.sanook.com
2TR 2.7 ควรซ่อม หรือซื้อใหม่ แบบไหนดีกว่า? | แกะกล่องHowMuch? EP.12