ปัญหารถสตาร์ตไม่ติดเป็นปัญหากว้างๆ ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยบางครั้งอาการขณะสตาร์ตสามารถบอกได้ด้วยว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร เราจึงได้รวบรวมปัญหายอดฮิตที่ทำให้รถสตาร์ตไม่ติด มีอะไรบ้าง?
1. แบตเตอรี่เสื่อม
แบตเตอรี่เสื่อมเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากแบตเตอรี่มักมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี สังเกตได้จากเสียงสตาร์ตจะค่อนข้างเอื่อยกว่าปกติ จนสุดท้ายจะมีเพียงเสียงแช้ะแล้วเงียบไป โดยมักพบอาการในขณะสตาร์ตเครื่องยนต์ตอนเช้า หรือหลังจากจอดรถไม่ได้ใช้งานหลายวัน
วิธีแก้ไขไม่ยาก คือ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 1 พันบาทปลายๆ (ขึ้นอยู่กับยี่ห้อแบตเตอรี่และขนาดที่ใช้)
2. ไดสตาร์ตเสีย
ไดสตาร์ทเป็นชิ้นส่วนที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน จึงมักพบปัญหาไดสตาร์ตเสื่อมกับรถรุ่นเก่าเท่านั้น โดยอาการของไดสตาร์ตเสื่อม คือ บิดกุญแจแล้วไม่มีเสียงใดๆ แต่ไฟหน้าปัดติดครบ และแบตเตอรี่ยังคงใช้งานได้ดี ซึ่งการเปลี่ยนไดสตาร์ตจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรุ่นรถและความยากง่ายของการหาอะไหล่
3. น้ำมันหมด
น้ำมันหมดก็ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยเช่นกัน เพราะหากมีปริมาณน้ำมันในถังเหลือน้อย บางครั้งการจอดรถที่พื้นที่ลาดเอียงก็อาจทำให้ปั๊มติ๊กไม่สามารถดูดเชื้อเพลิงในถังได้ ส่งผลให้มีอาการสตาร์ตไม่ติด แต่ทางที่ดีไม่ควรปล่อยให้น้ำมันเกลี้ยงถังอยู่บ่อยๆ ควรเติมน้ำมันทันทีหลังจากขึ้นขีดแดงจะดีกว่า
4. ปั๊มติ๊กไม่ทำงาน
ปั๊มติ๊ก หรือ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่ดูดน้ำมันจากถังเชื้อเพลิงส่งให้กับเครื่องยนต์ หากปั๊มติ๊กเกิดเสียหรือน็อค ก็จะทำให้รถดับกลางทางและสตาร์ตไม่ติดได้ ซึ่งอาการของปั๊มติ๊กเสียจะมีเสียงสตาร์ตตามปกติแต่เครื่องยนต์ไม่ติด ต่อให้บิดกุญแจอย่างไรเครื่องยนต์ก็ไม่ติด แบบนี้อาจต้องยกเข้าอู่เพื่อทำการแก้ไข โดยมักมีค่าใช้จ่ายรวมค่าแรงประมาณ 3 พันบาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับรุ่นรถ)
5. ไดชาร์จเสีย
อย่าสับสนระหว่างไดชาร์จและไดสตาร์ต เนื่องจากทั้งคู่มีหน้าที่การทำงานแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยไดชาร์จจะมีหน้าที่สร้างกระแสไฟจากการทำงานของเครื่องยนต์ส่งไปเก็บไว้ยังแบตเตอรี่ ดังนั้น หากไดชาร์จเสียก็จะทำให้ไฟในแบตเตอรี่ค่อยๆ หมดไปจนเครื่องยนต์ดับกลางทาง และสุดท้ายก็จะมีอาการเหมือนแบตเตอรี่เสื่อมนั่นเอง
6. ระบบไฟฟ้าผิดปกติ
ปัญหาการสตาร์ทไม่ติดที่เกิดขึ้นจากระบบไฟฟ้ามีสาเหตุค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่หนูกัดสายไฟขาดไปจนถึงกล่องควบคุมเครื่องยนต์ หรือ ECU มีปัญหา ทางที่ดีหากปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจาก 5 ข้อที่กล่าวถึงด้านบนแล้วล่ะก็ ควรนำรถเข้าศูนย์บริการ หรืออู่เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญรถของคุณเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุดนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ปัญหารถสตาร์ตไม่ติดสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการดูแลบำรุงรักษารถยนต์อย่างเหมาะสมอยู่เป็นประจำ จะได้ไม่ต้องหงุดหงิดเสียอารมณ์กลางทางไงล่ะครับ
เครดิต www.sanook.com
เทอร์โบ 4JB1-T (สำหรับรถบรรทุก) เป็นยังไง ไปดูกัน | แกะกล่องรีวิว