หลายคนคงเคยสังเกตเห็นพฤติกรรมของผู้ที่เลือกซื้อรถยนต์มือสอง ไม่ว่าจะดูรถตามบ้านหรือตามเต๊นท์ต่างๆ ก็จะต้องใช้ข้อนิ้วด้านหลังเคาะไปที่ตัวรถเบาๆ ทั่วทั้งคัน แล้วทราบหรือไม่ว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไร?
แค่เคาะเบาๆ ก็บอกได้ว่ารถเคยทำสีมา
โดยปกติแล้วรถที่ถูกผลิตออกมาจากโรงงาน จะมีความหนาของชั้นสี (เกือบจะ) เท่ากันตลอดทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็นฝากระโปรงหน้า, ฝากระโปรงท้าย, ประตูทุกบาน, บังโคลนหน้า-หลัง หรือแม้กระทั่งหลังคารถก็ตาม
ส่วนรถที่เคยประสบอุบัติเหตุ หรือตัวถังผุกร่อนเนื่องจากเกิดสนิมนั้น ช่างสามารถแก้ไขด้วยการใช้ “สีโป๊ว” ซึ่งมีลักษณะคล้ายดินเหนียวป้ายลงไปเพื่อซ่อมแซมพื้นผิวที่เสียหายให้กลับมาเรียบดังเดิม จากนั้นจึงค่อยพ่นสีและตามด้วยแลกเกอร์อีกชั้นเพื่อความเงางาม โดยขั้นตอนดังกล่าวจะส่งผลให้ความหนาของวัสดุเพิ่มขึ้นจากเดิม และความหนาของชั้นสีก็ผิดเพี้ยนไป เป็นที่มาว่าทำไมเต๊นท์รถมักใช้คำโปรโมตรถที่ไม่เคยผ่านการทำสีว่า “ตัวถังบางเดิม” นั่นเอง
ดังนั้น การตรวจเช็กรถมือสองว่าเคยทำสีมาหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบเบื้องต้นง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย เพียงใช้ข้อนิ้วบริเวณหลังมือเคาะไปที่ตัวถังเบาๆ หากเป็นชิ้นส่วนที่ไม่เคยผ่านการทำสีมาก่อน เสียงที่ได้จากการเคาะจะมีลักษณะโปร่งใส มีความกังวานเล็กน้อย บ่งบอกได้ว่าชิ้นส่วนบริเวณนั้นยังคงเป็นสีเดิมตั้งแต่ออกมาจากโรงงาน
ในทางกลับกัน หากเสียงเคาะที่ได้มีลักษณะทึบ ไม่กังวาน ฟังคล้ายกับมีความหนามากกว่าส่วนอื่นๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเคาะพลาสติกอยู่แล้วล่ะก็ พอจะอนุมานได้ว่าชิ้นส่วนดังกล่าวเคยผ่านการทำสีมาแล้ว
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบด้วยวิธีเคาะ นิยมทำกับชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กเท่านั้น เพราะชิ้นส่วนที่ทำมาจากไฟเบอร์หรือพลาสติก เช่น กันชนหน้า, กันชนท้าย ฯลฯ เสียงที่ได้จะมีลักษณะทึบมากกว่าชิ้นส่วนที่เป็นเหล็ก ยากต่อการจำแนกว่าเคยทำสีมาหรือไม่ อีกทั้งการเก็บสีบริเวณกันชนถือเป็นเรื่องปกติของรถที่ใช้งานทุกวัน อาจมีการเฉี่ยวครูดบ้างเป็นเรื่อธรรมดา หลายคนจึงเลือกมองข้ามในจุดนี้ไป
รถเคยทำสีไม่ได้แปลว่ารถชนหนักมาเสมอไป
แม้ว่าการตรวจสอบตัวถังด้วยการเคาะจะบ่งบอกได้ว่ารถเคยผ่านการทำสีมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่ารถคันนั้นถูกย้อมแมวขายหรือเป็นรถที่มีสภาพไม่ดี เพราะบางครั้งเจ้าของเดิมเพียงแค่ต้องการเก็บริ้วรอยบนตัวถังที่เกิดขึ้นจากการใช้งานทั่วไป ไม่ได้ผ่านการชนหนักมา กรณีเช่นนี้ก็อาจทำให้ความหนาของวัสดุที่ผ่านการซ่อมแซมผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน
รถบางทั้งคันก็อาจเคยชนหนักมาได้เหมือนกัน
หากลองเคาะตัวรถทั้งคันแล้วพบว่าสีบางเดิมสนิทเหมือนเพิ่งออกมาจากโรงงาน ก็ไม่ได้แปลว่ารถคันนั้นจะไม่เคยผ่านการชนหนักมา เพราะบางครั้งรถที่ผ่านการชนอย่างรุนแรง ก็อาจเลือกใช้วิธีสวมหน้าตัด-ท้ายตัดจากรถคันอื่นมาเลย ส่งผลให้การตรวจสอบด้วยวิธีการเคาะเพียงอย่างเดียวได้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำนัก จำเป็นต้องสังเกตจุดอื่นร่วมด้วย เช่น มีการตัดต่อแชซซีมาหรือไม่ มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์มาหรือเปล่า เป็นต้น
การตรวจสอบสภาพรถยนต์มือสอง ไม่ได้ทำเฉพาะการเคาะตัวถังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น สภาพเครื่องยนต์และเกียร์, สภาพชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร, ประวัติการซ่อมบำรุงรักษา รวมถึงเลขเครื่องยนต์และเลขตัวถังจะต้องตรงกับที่ระบุไว้ในคู่มือจดทะเบียน เป็นต้น
เครดิต www.sanook.com
“ไช้กูอยู่หนาง” 4D56U ยกเครื่องไทรทันพลัส+ Ride in High Style | แกะกล่องHowMuch? EP.4