ปัจจุบันยังคงมีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตภายในรถขณะนอนหลับพร้อมกับติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ทิ้งไว้มาให้พบเห็นอยู่เรื่อยๆ แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมการนอนเปิดแอร์ภายในรถเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากขับรถไปเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งจอดติดไฟแดงกลับไม่เป็นไร? Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกัน

ทำไมนอนสตาร์ทเครื่องยนต์-เปิดแอร์อาจถึงขั้นเสียชีวิต?

อันตรายจากการสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมกับเปิดแอร์นอนภายในรถ ถือเป็นภัยที่หลายคนคาดไม่ถึง เนื่องจากเครื่องยนต์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์หากสูดดมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ระบบปรับอากาศของรถจำเป็นต้องดึงอากาศภายนอกบางส่วนเข้ามายังห้องโดยสาร แม้ว่าจะเปิดระบบหมุนเวียนอากาศภายในรถแล้วก็ตาม อีกทั้งบริเวณท้ายรถจะมีช่องระบายอากาศสำหรับลดแรงดันขณะปิดประตูซ่อนไว้อยู่หลังกันชน ดังนั้น หากจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้ จะส่งผลก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เล็ดลอดเข้ามายังห้องโดยสารอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งอันตรายจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม หายใจติดขัด สั่นกระตุก หัวใจเต้นผิดปกติ และหมดสติโดยไม่รู้ตัว อันเป็นผลจากการที่ร่างกายมีฮีโมโกลบินน้อยกว่าปกติ และอาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการติดเครื่องยนต์เปิดแอร์นอนในรถจึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั่นเอง

ส่วนกรณีขับรถต่อเนื่องหลายชั่วโมงกลับไม่ได้รับอันตรายจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นั้น สาเหตุเป็นเพราะอากาศจะมีการถ่ายเทตามปกติขณะรถกำลังเคลื่อนที่ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารภายในรถจึงไม่ได้รับอันตรายจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมากเหมือนกับขณะที่รถจอดหยุดนิ่ง อย่างไรก็ดี การได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่น้อย แต่ต่อเนื่องเป็นระยะนานๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้เช่นกัน จึงควรจอดแวะพักเพื่อเพิ่มความสดชื่นก่อนเดินทางต่อไป

นอนในรถอย่างไรไม่ให้เสียชีวิต?

หากจำเป็นต้องนอนภายในรถเนื่องจากเผชิญอาการง่วง ขับรถต่อไม่ไหว หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการสตาร์ทเครื่องยนต์-เปิดแอร์ แต่ให้ใช้วิธีลดกระจกลงเล็กน้อยทั้ง 4 บานเพื่อให้อากาศถ่ายเท รวมถึงต้องล็อกประตูทุกบานเพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีควบคู่กันไปด้วย

แต่หากมีความจำเป็นต้องเปิดแอร์เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ควรลดกระจกลงเล็กน้อยทั้งสองฝั่งเพื่อช่วยระบายอากาศ พร้อมกับตั้งนาฬิกาปลุกไว้ประมาณ 10-15 นาที เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า พร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย

 

 

เครดิต www.sanook.com