ช่วงนี้บ้านเราตื่นตัวเรื่องของสภาพมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ปัญหาเรื่องฝุ่นมลพิษ ซึ่งทราบหรือไม่ว่า ต้นเหตุของมลพิษทางอากาศเหล่านี้ เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากยานพาหนะที่ใช้กันบนท้องถนน เราจะพาไปหาคำตอบกันว่า รถยนต์ประเภทใดปล่อยมลพิษมากที่สุด และช่วงเวลาใดที่ไอเสียจากรถยนต์ทำร้ายคุณมากที่สุด

     ผลการวิจัยจากสถาบันคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ระบุว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของมลพิษคาร์บอนมอนอกไซด์เกิดจากรถยนต์ นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า 1 ใน 3 ของมลพิษที่รวมถึงฝุ่นละอองและควันในอากาศมาจากรถยนต์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองและถนนสายหลัก ซึ่งเป็นหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับทุกประเทศทั่วโลก

รถดีเซล ปล่อยมลพิษ มากกว่าเบนซินจริงหรือ

     อันตรายจากมลพิษจากรถยนต์ แม้จะเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่างชนิดกันในการเผาไหม้ แต่ทั้งเบนซิน และดีเซล ก็ส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศในระดับตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน ทั้งการปล่อยก๊าซ คาร์บอนมอนอกไซด์ และ ฝุ่นมลพิษ 2.5 ไมครอน โดยหากแยกเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษยืนยันว่า รถเครื่องยนต์เบนซิน จะปล่อยก๊าซชนิดดังกล่าวออกมามากกว่ารถเครื่องยนต์ดีเซล

     แต่หากเจาะจงไปที่ ฝุ่นมลพิษ 2.5 ไมครอน จะพบว่า รถเครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยมลพิษชนิดนี้ออกมามากกว่ารถเบนซิน อย่างไรก็ดี บนท้องถนนมีรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิดอยู่ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ฉะนั้นไม่ว่าจะรถยนต์ประเภทไหน สิ่งที่ควรกระทำมากที่สุดคือ ควรหลีกเลี่ยงอากาศบริเวณที่มีการจราจรติดขัดนั่นเอง

จริงหรือไม่ จอดรถติดเครื่องปล่อย “มลพิษ” มากที่สุด

     ในเมื่อรถยนต์ ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศโดยรวมในระดับใกล้เคียงกัน รู้หรือไม่ว่าช่วงเวลาใดที่ รถยนต์จะปล่อยไอเสียออกมาและเป็นอันตรายมากที่สุด โดยหากเป็นรถยนต์เครื่องดีเซล ช่วงที่อันตรายที่สุดคือช่วงที่รถกำลังเร่งความเร็วและปล่อยควันดำออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่บรรทุกหนักเกินกำลังเครื่องยนต์

     ส่วนรถยนต์เครื่องเบนซินนั้น จะปล่อยก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ออกมามากที่สุดขณะที่รถจอดติดเครื่องเดินเบา และจอดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของคำเตือนที่ควรหลีกเลี่ยงอากาศบริเวณที่การจราจรที่ติดขัด รวมถึงคำเตือนที่ห้ามจอดรถเปิดแอร์นอนอย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสที่คาร์บอนมอนอกไซด์จะหลุดเข้ามาอยู่ในระบบแอร์ของรถคุณและเป็นอันตรายถึงชีวิตตามที่เป็นข่าวกันมาแล้วก่อนหน้านี้

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

วิธีการอัดลูกสูบเครื่อง 4JA1 | แกะกล่อง DIY