ระบบปรับอากาศในรถยนต์ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้รถช่วงหน้าร้อน เราจึงขอแนะนำ 4 เทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยให้คุณสามารถใช้รถได้อย่างสบายใจในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าวเช่นนี้ จะทำอย่างไรได้บ้าง?

แนะนำเทคนิคแก้ แอร์รถยนต์ไม่เย็น ให้เย็นเจี๊ยบช่วงหน้าร้อน

1. ใช้ที่บังแดดทุกครั้งหลังจอดรถ

แม้ว่ารถของเราจะมีฟิล์มกรองแสงที่ช่วยสะท้อนรังสี UV และความร้อนได้ขั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็ควรมีที่บังแดดแบบพับได้ติดรถเอาไว้ด้วย เพื่อช่วยป้องกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนจากแสงแดด และยังช่วยยืดอายุชิ้นส่วนพลาสติกบนแผงคอนโซลไม่ให้แตกกรอบง่ายอีกด้วย

2. เปิดกระจกทุกบานก่อนออกรถ

หากมีความจำเป็นต้องจอดรถทิ้งไว้กลางแดด ก่อนออกเดินทางทุกครั้งควรลดกระจกทั้ง 4 บานลงเพื่อไล่ความร้อนออกไปเสียก่อน จะช่วยให้ห้องโดยสารไม่ร้อนจัดจนเกินไป และยังเป็นการลดภาระการทำงานของระบบแอร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

3. เปลี่ยนฟิล์มกรองแสง

ฟิล์มกรองแสงรถยนต์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 5 – 7 ปี จากนั้นประสิทธิภาพในการกันความร้อนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ หากพบว่าฟิล์มเริ่มเสื่อมสภาพก็ควรพิจารณาเปลี่ยนฟิล์มกรองแสงเสียใหม่ เลือกที่มีค่าการป้องกันความร้อนสูงๆ จะช่วยให้ห้องโดยสารเย็นสบายมากยิ่งขึ้นอีกทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระการทำงานของระบบแอร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

4. ล้างแอร์เมื่อจำเป็น

แอร์รถยนต์จำเป็นต้องมีการล้างทำความสะอาดเช่นเดียวกับแอร์บ้าน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเย็นของห้องโดยสารได้ โดยเฉพาะเมื่อรถมีกลิ่นเหม็นอับ ความเย็นไม่ฉ่ำเท่าที่ควร การล้างแอร์จะเป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นเพื่อให้แอร์กลับมาเย็นเจี๊ยบดังเดิมได้

ปัจจุบันการล้างแอร์มีทั้งแบบถอดตู้และไม่ถอดตู้ ซึ่งให้ผลลัพธ์หลังการล้างแตกต่างกันไป โดยที่การล้างแบบถอดตู้จะเป็นการรื้อตู้แอร์และนำคอยล์เย็นออกมาทำความสะอาด อีกทั้งช่างยังสามารถทำความสะอาดส่วนอื่นๆ ของระบบปรับอากาศได้เกือบทั้งหมด แต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และต้องใช้ระยะเวลานาน ส่วนการล้างแอร์แบบไม่ถอดตู้ จะใช้โฟมหรือน้ำยาเข้าไปทำความสะอาดที่แผงคอยล์เย็นควบคู่ไปกับการส่องกล้อง ซึ่งมีข้อดีคือค่าใช้จ่ายถูกกว่า และใช้ระยะเวลาไม่นาน เหมาะสำหรับรถที่ผ่านการใช้งานไม่นานนัก และมีการล้างแอร์เป็นประจำสม่ำเสมอ

หากปฏิบัติได้ตามข้อแนะนำข้างต้นนี้ รับรองว่าคุณจะสามารถใช้รถได้อย่างสบายใจตลอดช่วงหน้าร้อนนี้แน่นอนครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

เทอร์โบ 4HK1 แต่ละตัวแตกต่างกันยังไง? ไปดูกัน!! | แกะกล่องรีวิว