หากพูดถึงการเปลี่ยนยางรถยนต์ เรามักจะได้ยินคำว่า “ตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ” ควบคู่กันไปเสมอ แต่เชื่อว่ามือใหม่หลายคนไม่ทราบว่าทั้ง 2 อย่างแตกต่างกันอย่างไร บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปทำความรู้จักการตั้งศูนย์และถ่วงล้อกัน
ตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ คืออะไร?
มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าการ “ตั้งศูนย์” และ “ถ่วงล้อ” คือสิ่งเดียวกัน แต่อันที่จริงแล้วทั้ง 2 อย่างมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยสามารถทำทั้ง 2 อย่างในคราวเดียวกันได้ หรือจะแยกทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามอาการของรถก็ได้เช่นกัน
ตั้งศูนย์
การตั้งศูนย์เป็นการตั้งค่าการทำงานของระบบช่วงล่าง เพื่อไม่ให้รถเป๋ไปทางด้านซ้ายหรือขวาขณะขับขี่ หากศูนย์ล้อเป็นปกติ รถจะสามารถเคลื่อนที่ไปทิศทางตรงได้อย่างแม่นยำแม้ว่าจะมีการปล่อยพวงมาลัย หรือจับพวงมาลัยแบบหลวมๆ ก็ตาม
แต่หากศูนย์ล้อมีความผิดปกติ หากปล่อยมือออกจากพวงมาลัยแล้วล่ะก็ รถจะเอียงไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาทันที ยิ่งรถเอียงมากเท่าไหร่ แสดงว่าศูนย์ล้อยิ่งมีความผิดปกติมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้การควบคุมรถยากขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ยางเกิดความสึกหรอผิดปกติ ยางเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรได้
ถ่วงล้อ
หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่ายางรถยนต์ทุกเส้นจะมีลักษณะเป็นทรงกลมโดยสมบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วยางแต่ละเส้นไม่ได้มีการเฉลี่ยน้ำหนักเท่ากันตลอดทั้งเส้น ส่งผลให้น้ำหนักของแต่ละจุดบนเส้นรอบวงยางไม่เท่ากัน meให้เกิดแรงสะเทือนขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง โดยเฉพาะความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นกับล้อคู่หน้า จะทำให้แรงสะเทือนส่งผ่านมายังพวงมาลัย ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกถึงอาการสั่นได้มากกว่าล้อคู่หลัง
การถ่วงล้อเป็นการนำตะกั่วถ่วงล้อไปติดไว้บริเวณด้านในของวงล้อ เพื่อให้ล้อและยางเกิดความสมดุล จะช่วยลดอาการสั่นลงให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
การตั้งศูนย์ – ถ่วงล้อ ทำเมื่อไหร่?
การตั้งศูนย์ และถ่วงล้อ มักจะทำทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนยางเส้นใหม่ เพื่อปรับค่าต่างๆ ให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม เพราะการขับรถตกหลุมอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ศูนย์ล้อเปลี่ยนไปจากเดิมได้
อย่างไรก็ดี หากว่ายังไม่ถึงเวลาเปลี่ยนยางเส้นใหม่ แต่ช่วงล่างของรถมีอาการผิดเพี้ยนไป เช่น รถแฉลบไปข้างใดข้างหนึ่งเมื่อปล่อยพวงมาลัย แบบนี้จะต้องนำรถเข้ารับการ “ตั้งศูนย์” หรือหากรถมีอาการสั่นขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง แบบนี้จะต้องเข้ารับการ “ถ่วงล้อ” เพื่อให้กลับมานิ่งดังเดิม
อย่างไรก็ดี อาการผิดปกติของช่วงล่างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการตั้งศูนย์ – ถ่วงล้อเสมอไป เพราะหากมีการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนช่วงล่าง ก็อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้เช่นกัน โดยมากแล้วช่างจะแนะนำให้เปลี่ยนหรือซ่อมช่วงล่าง จากนั้นจึงค่อยนำรถเข้ารับการตั้งศูนย์หรือถ่วงล้อตามความจำเป็นต่อไปครับ
เครดิต www.sanook.com
ฝาสูบ 4M40 สตาด้า 2.8 ของ GZL ใส่แล้วจะเงียบมั้ย? | แกะกล่อง DIY