7 ข้อหาจราจรยอดฮิต

1.เมาแล้วขับ

อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     เมาแล้วขับถือเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ตามกฎหมายแล้วหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงการยึดรถที่ใช้สูงสุดไม่เกิน 7 วัน

     นอกจากนี้ หากเมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส จะมีโทษเพิ่มขึ้นเป็น จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอน แต่หากมีผู้เสียชีวิตจะเพิ่มโทษเป็น จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที

2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่หรือโดยสารในรถ

อัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     แม้ว่าจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่ถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ หรือแม้กระทั่งผู้โดยสารเป็นฝ่ายดื่มเอง ก็มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งข้อหานี้ไม่รวมถึงการโดยสารรถขณะมึนเมา หากไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมในขณะโดยสาร จะไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด

3.ขับรถเร็วเกินกำหนด

อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

     ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดในเขตเมืองจะอยู่ที่ 80 กม./ชม. และนอกเมืองอยู่ที่ 90 กม./ชม. แต่อาจมีการอนุโลมในถนนบางสายให้สามารถใช้ความเร็วเกินกว่านั้นได้ เช่น ทางด่วนบูรพาวิถีอยู่ที่ 110 กม./ชม. หรือมอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยาอยู่ที่ 120 กม./ชม.

4.จอดรถในที่ห้ามจอด

อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท

     หลายคนนำรถไปจอดในที่ห้ามจอดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500 บาท และอาจเสี่ยงต่อการถูกทำลายทรัพย์สินจนได้รับความเสียหายด้วย

5.ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ

อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

     ความผิดเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ นอกจากจะหมายถึงการยกโทรศัพท์ขึ้นแนบหูเพื่อการสนทนาแล้ว ยังรวมถึงการแชท, พิมพ์ข้อความ, ค้นหาสถานที่ ฯลฯ อีกด้วย การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่โดยไม่ผิดกฎหมาย จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หูฟังบลูทูธ, สมอลทอล์ค และต้องมีที่ยึดจับโทรศัพท์เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

6.ขาดต่อภาษีประจำปี

อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

     ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มักมีการตั้งด่านตรวจมากกว่าปกติ ป้ายแสดงการเสียภาษีประจำปีมักเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสมอ หากหมดอายุจะถูกเรียกปรับทันที ซึ่งโทษปรับสูงสุดอาจสูงถึง 2,000 บาท

7.ขาดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

     หากขาดต่อภาษีประจำปี ก็เป็นไปได้ว่าจะขาดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถด้วย ซึ่งการขาดต่อ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท เนื่องจากเป็นประกันภัยพื้นฐานที่รถทุกคันต้องมีตามกฎหมาย

     รู้แบบนี้แล้วควรเลี่ยงกระทำผิดข้อหาดังกล่าวทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์และตลอดทั้งปีด้วยนะครับ

เครดิต www.sanook.com