หลากกฎจราจร ที่หลายคนยังเข้าใจผิด

“กฎจราจร” คือกติกาที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน เพื่อให้การสัญจรไปมาในท้องถนน สามารถทำได้โดยปลอดภัยและเรียบร้อย และแน่นอนว่า ผุ้ที่ต้องใช้งานท้องถนนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ, ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่งเดิน ก็ต้องเคารพกฎจราจรทั้งหมด แต่ก็มีอยุ่บางข้อ ที่หลายคนยังคงเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำหรือคิดนั้นถูกต้องแล้ว ทั้งที่มันผิด (หรืออาจจะถูก) วันนี้เรามาลองยกตัวอย่างกันเสียหน่อย ว่ามีกฎจราจรอะไรบ้างที่หลายคนยังเข้าใจผิดกันอยู่ครับ

เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

เวลาเราขับรถไปติดตาม 4 แยกไฟแดง (หรือ 3 แยก) แล้วเราก็มักจะเลี้ยวซ้ายในทันที ทั้งที่ไฟจราจรนั้นยังเป็นสีแดงอยู่ โดยคิดเอาเองว่า แยกนั้นสามารถเลี้ยวซ้ายได้เลย โดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟ ในความเป็นจริงแล้ว ทุกแยกที่มีไฟสัญญาณจราจร และไม่มีการตัดช่องพิเศษเพื่อให้เลี้ยวซ้ายได้ จะต้องหยุดหลังเส้นจราจรทุกครั้ง เมื่อสัญญาณจราจรขึ้นมาเป็นสีแดง ยกเว้นในกรณีที่มีป้ายจราจรแจ้งเอาไว้ว่า แยกนี้สามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ ถึงไม่ต้องรอสัญญาณไฟ ฝ่าฝืนมีโทษปรับเทียบเท่ากับการฝ่าสัญญาณไฟแดงครับ

กลับรถที่ 4 แยก

หลายคนยังคงเข้าใจว่า ทุกแห่งที่ไม่มีเกาะกลาง สามารถกลับรถได้ทุกที่ โดยเฉพาะ 4 แยกไฟแดง เมื่อได้ไฟเขียวเมื่อไหร่สามารถกลับรถได้ทันที แต่ถ้าไปดูตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 53 วงเล็บ 3 จะมีระบุเอาไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถที่ทางร่วมทางแยก เว้นแต่จะมีเครื่องหมายจราจรให้กลับรถในบริเวณดังกล่าวได้

ตำรวจไม่มีสิทธิ์ยึดใบขับขี่

ใบขับขี่ เหมือนใบแสดงสิทธิ์ว่าเรามีสิทธิในการขับขี่รถบนถนนหลวงได้ตามที่ระบุประเภทไว้ แต่เมื่อไหร่ที่ตำรวจจราจรทำการเรียกขอดูใบขับขี่ เราในฐานะผุ้เคารพกฎจราจร ก็ต้องแสดงใบขับขี่ให้เจ้าหน้าที่ดูทุกครั้ง แต่ก็มีบางคนที่หลงเชื่อข่าวส่งต่อ ที่บอกว่า ใบขับขี่เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ตำรวจไม่สามารถยึดเอาไปได้ แต่ถ้าไปดูตามตัวบทกฎหมาย จะระบุเอาไว้ในมาตรา 140 ว่า “ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้” หมายความว่าตำรวจสามารถยึดใบขับขี่ไว้ได้ชั่วคราว โดยต้องออกใบสั่งให้ทุกครั้ง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดไปได้คือกุญแจรถต่างหากครับ

ทางเข้าอาคารไม่มีเส้นเหลืองทแยง จอดขวางได้

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ถ้ามีเส้นเหลือทแยงขีดอยู่บนพื้นเมื่อไหร่ แสดงว่าเราต้องห้ามไปจอดทับเส้นนั้นเด็ดขาด แต่ก็มีทางเข้าอาคารหลายแห่ง ที่ไม่ได้มีเส้นทแยงสีเหลืองขีดเอาไว้ หลายคนเลยเข้าใจว่า ก็สามารถหยุดรถตรงนั้นได้โดยไม่ผิดอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 55 วงเล็บ 6 กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ” ดังนั้นจึงหมายความว่า ถึงแม้ตรงทางเข้าอาคาร ที่ไม่มีเส้นทแยงเหลืองก็ตาม จุดนั้นก็ห้ามหยุดรถขวางอยู่ดีครับ

ขอบทางทาสีขาว-ดำ แปลว่าจอดได้

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ถ้ามีการขีดเส้นสีขาว-แดง ตรงไหน แสดงว่าตรงนั้นห้ามจอดโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเป็นการขีดเส้นสีขาว-ดำเมื่อไหร่ แสดงว่าตรงนั้นสามารถจอดได้อย่างปลอดภัยจากการโดนใบสั่ง แต่ถ้าไปพลิกดูตามกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องหมายจราจรแล้ว จะถูกระบุเอาไว้เพียงว่า “เครื่องหมายขาวดำ มีลักษณะเป็นแถบสีขาวสลับสีดำ แสดงหรือทำให้ปรากฏที่ขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางเห็นขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางนั้น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าตรงนั้นสามารถจอดรถได้ ต้องดูว่า ณ จุดที่จอดรถนั้น เป็นจุดที่เข้าข่ายต้องห้ามจอดรถหรือไม่ เช่น ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ, ในระยะสามเมตรจากท่อน้ำดับเพลิง, ในระยะสิบเมตรจากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร, ในทางร่วมทางแยก หรือในระยะสิบเมตรจากทางร่วมทางแยก เป็นต้น ดังนั้น เห็นแถบสีขาว-ดำ ไม่ได้แปลว่าจอดได้เลยนะครับ

เครดิต www.autodeft.com