จริงหรือไม่ “รถแบรนด์ไทย” ไม่มีวันแจ้งเกิด?

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ในเมื่อประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งย่านอาเซียน รวมถึงรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อในบ้านเรา ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานในเมืองไทยแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะเหตุใด ถึงไม่มีแบรนด์รถยนต์สัญชาติไทยแจ้งเกิดได้เลยในบ้านเรา?

“ประเทศไทย” หัวแถวผู้ผลิตรถยนต์แห่งเอเชีย

สถิติจาก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2018 ระบุว่า ประเทศไทย สามารถผลิตรถยนต์ได้สูงถึง 2,167,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 9 เปอร์เซ็นต์ และถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ได้มากที่สุดเป็นดับ 11 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในอดีตที่ต้องการให้เป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย”

โดยยอดการผลิตรถยนต์ของไทยในปีที่ผ่านมาถือเป็นเบอร์หนึ่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหนืออดีตแชมป์อินโดนีเซียร่วม 8 แสนคัน และหากไล่ดูในทวีปเอเชีย ไทยเรารั้งอันดับที่ 5 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ เท่านั้น ซึ่งกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ที่ไทยผลิตคือรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย ทำไมไม่ปัง?

หากย้อนกลับไปดูสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไทย ที่ผ่านมาแม้จะมีมากมายหลากหลายประเภท แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่สามารถก้าวขึ้นมาชิงส่วนแบ่งการตลาดกับแบรนด์ได้มากเท่าที่ควร อาทิ โทรทัศน์ “ธานินทร์” ที่ปัจจุบันกลายมาเป็น ALTRON หรือกระทั่งโทรศัพท์มือถือ i-mobile เป็นต้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เรื่องของแบรนด์ดัง และค่านิยม คือปัจจัยอันดับต้นๆ

ส่วนสินค้ารถยนต์ ที่ผ่านมาอาจจะมีการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศอาทิ จีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จะมีแค่ “ไทยรุ่ง” ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากคนไทยมากที่สุด อย่างไรก็ดี ก็เป็นการผลิตด้วยการนำรถญี่ปุ่นอย่าง อีซูซุ หรือ โตโยต้า มาพัฒนาต่อยอด ยังเรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นรถสัญชาติไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

ย้อนดูเพื่อนบ้าน “โปรตอน” ตัวอย่างรถยนต์แห่งชาติ

ในช่วงปี 2007 วงการรถยนต์เมืองไทยอ้าแขนต้อนรับรถยนต์ยี่ห้อโปรตอน แบรนด์รถยนต์แห่งชาติของประเทศมาเลเซีย ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งในช่วงเริ่มแรกโปรตอนผลิตรถยนต์โดยอาศัยเทคโนโลยีและชิ้นส่วนของมิตซูบิชิ ก่อนพัฒนามาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี หลังจากอาฟต้า (AFTA) ได้ประกาศลดภาษีการนำเข้ารถยนต์เหลือเพียง 5% ทำให้รถยนต์ในมาเลเซียราคาถูกลง และโปรตอนก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องมีการกระจายขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนต่างชาติในท้ายที่สุด เพื่อช่วยพยุงเศรฐกิจของประเทศ นั่นหมายความว่ายี่ห้อรถแห่งชาติมาเลเซียก็ไปไม่รอดเช่นกัน

รัฐบาลมีส่วนแค่ไหนกับการผลักดันรถสัญชาติไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตั้งฐานการผลิตรถยนต์ของแบรนด์ชั้นนำของโลกในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ถือเป็นมูลค่าการผลิตมหาศาลของอุตสาหกรรมรถยนต์บ้านเรา ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล

ฉะนั้นโอกาสที่แบรนด์รถยนต์ไม่แค่เฉพาะสัญชาติไทย หากแต่เป็นแบรนด์รถยนต์ต่างประเทศที่คิดจะเข้ามาทำตลาดและช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์บ้านเราก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ การมองไปที่อนาคต โดยเฉพาะการผลักดันโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่มีแนวโน้มจะเข้ามามีบทบาทในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

หากเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) มีสิทธิ์ชนะใจคนไทยหรือไม่?

แน่นอนว่า รถ EV จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ส่วนในปัจจุบัน หากพูดถึงรถยนต์ประเภทนี้ Tesla คือแบรนด์รถยนต์ที่สร้างความน่าเชื่อถือในอันดับต้นๆ ขณะที่ค่าย นิสสัน และ เอ็มจี ก็เริ่มนำเอารถประเภทนี้เข้าทำตลาดในบ้านเรา ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

น่าสนใจว่า หากรัฐบาลไทยต้องการซื้ออนาคตในเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า และอยากเห็นแบรนด์รถยนต์สัญชาติไทยเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น การผลักดันการพัฒนารถ EV ของคนไทยควรจะต้องเกิดขึ้น และหากราคา และคุณภาพอยู่ในจุดที่ลงตัว ถึงเวลานั้นรถยนต์แบรนด์ไทย อาจจะเป็นที่ยอมรับของคนไทยก็เป็นได้

เครดิต www.sanook.com