ระบบตัวช่วยไหนบ้าง ที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุรถพลิกคว่ำได้
แน่นอนว่า เราคงไม่อยากเห็นข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตกันอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอข่าวที่นักศึกษาฝึกงานเกิดขับรถกระบะแล้วพลิกคว่ำ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายคนนั้น ยิ่งทำให้หดหู่ทุกครั้งที่เราได้อ่านข่าว ซึ่งถ้าดูจากภาพเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่ารถได้มีการขับเร็ว แล้วเกิดเหตุบางอย่างจนทำให้รถเกิดพลิกคว่ำ จนทำให้ผู้โดยสารที่บรรทุกกันมาเต็มคัน รวมทั้งในกระบะท้ายต้องมาบาดเจ็บและเสียชีวิต
ปัจจุบัน รถรุ่นใหม่ในตลาด หลายรุ่นมีการติดระบบตัวช่วยเพื่อความปลอดภัยไว้มากมาย โดยจะถูกแบ่งออกมาเป็น 2 รูปแบบคือ
- ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน หรือเรียกแบบสากลว่า ACTIVE SAFETY คือระบบที่ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ABS, EBD, ระบบเบรกอัตโนมัติ เป็นต้น
- ระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข หรือเรียกแบบสากลว่า PASSIVE SAFETY คือระบบที่ช่วยปกป้องความรุนแรง หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถุงลมนิรภัย, เข็มขัดนิรภัย เป็นต้น
ซึ่งระบบที่จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนรถพลิกคว่ำได้ ก็มีอยู่หลายระบบ วันนี้เรามาทำความรู้จักกันดีกว่า ว่ามีระบบอะไรที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้บ้างครับ
Anti – Lock Brake System (ABS)
เราคงได้ยินระบบความปลอดภัยอย่าง ABS กันจนชินหู แต่หลายคนยังไม่รู้ว่า ระบบนี้ทำงานอย่างไร และช่วยลดการพลิกคว่ำได้อย่างไร โดย ABS เรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า ระบบป้องกันการล้อล็อก ซึ่งระบบการทำงานก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ล้อหยุดสนิทเมื่อมีการกดเบรกแรงมาก เพราะถ้าล้อมีการล็อกเมื่อตัวรถยังวิ่งด้วยความเร็วและมีแรงเฉื่อยของตัวรถอยู่ จะทำให้ตัวยางนั้นสัมผัสกับตัวถนนอยู่จุดเดียว และเมื่อเกิดความร้อนสะสมในจุดนั้น จะทำให้ยางมีโอกาสสูญเสียคุณสมบัติในการยึดเกาะถนน จนทำให้เกิดอาการลื่นไถลออกไปด้านข้างได้ จนทำให้เราไม่สามารถควบคุมรถให้อยุ่ในเส้นทางที่เราต้องการ จนเป็นเหตุให้เกิดการชนกับรถหรือวัตถุอื่น หรือวิ่งไถลข้างจนรถพลิกคว่ำได้นั่นเอง แต่เมื่อรถมีระบบ ABS ที่จะคอยล็อกล้อให้เบรกเป็นจังหวะรัว ๆ ประมาณ 4 ครั้งต่อ 1 รอบหมุนล้อ จะช่วยลดอาการสะสมความร้อนในจุดเดียว ช่วยให้เรายังคงสามารถบังคับรถให้อยู่ในทิศทางที่เราต้องการได้ดีกว่าแบบล้อล็อก ลดอาการเสี่ยงที่จะทำให้ตัวรถพลิกคว่ำได้ ปัจจุบันระบบ ABS เกือบจะเป็นระบบมาตรฐานบนรถอยุ่แล้ว จะยกเว้นไม่มีก็รถกระบะตัวล่างแบบเอาไว้เน้นการขนของ ที่บางรุ่นยังไม่มีใส่มาให้เท่านั้น
Traction Control System (TRC)
ระบบป้องกันการลื่นไถลของรถ หรือที่ส่วนใหญ่เรียกกันว่า Traction Control System (TRC) บางค่ายเรียก TCS คือระบบที่จะช่วยป้องกันการไถลของตัวรถ และป้องกันล้อหมุนฟรี ที่เป็นต้นเหตุให้รถเกิดอาการหมุนและเกิดพลิกคว่ำได้ โดยระบบนี้จะใช้เซ็นเชอร์ตรวจจับรอบการหมุนจากทั้ง 4 ล้อ และเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่า มีล้อหนึ่งหมุนเร็วกว่าล้ออื่นแบบไม่มีนัยยะ จนน่าจะเกิดความเสี่ยงให้รถไม่สามารถวิ่งอยู่ในเส้นทางได้ ระบบจะสั่งการให้ ABS ทำงานด้วยการจับล้อที่หมุนเร็วผิดปกติ ให้กลับมาหมุนเท่ากับล้ออื่น ๆ ได้ จนทำให้รถสามารถวิ่งอยู่ในเส้นทางที่เราต้องการได้ตมปกติ ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการพลิกคว่ำของตัวรถได้นั่นเอง
ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว
ระบบนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษหลายอย่าง ทั้ง Vehicle Stability Control (VSC), Electronic Stability Control (ESC), Electronic Stability Program (EPS) เป็นต้น แล้วแต่ว่าทางค่ายรถยนต์จะเรียกว่าอะไรเท่านั้นเอง แต่จริง ๆ แล้ว ทุกตัวคือระบบการทำงานในรูปแบบเดียวกัน คือช่วยควบคุมการทรงตัวของตัวรถให้อยู่กับถนนให้ได้มากที่สุด โดยระบบนี้จะทำงานร่วมกันกับระบบ Traction Control แต่จะมีระบบการสั่งการที่ซับซ้อนมากกว่า จะเรียกว่าระบบนี้ เอา Traction Control มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานด้วยนั่นเอง โดยหลักการทำงานคือ เมื่อตัวรถเกิดอาการล้อหมุนไม่เท่ากัน หรือมีอาการ Over/Under Steer ท้ายปัด/หน้าดื้อ ขึ้นมา ระบบ VSC จะสั่งการให้ระบบ TRC ทำการสั่งให้ ABS จับให้ล้อทั้ง 4 หมุนเท่ากัน และจะทำการสั่งตัดกำลังเครื่องยนต์ไม่ให้ส่งกำลังไปที่ล้อเพิ่มอีก จนลดอาการเสียหลักของตัวรถได้ ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการพลิกคว่ำได้นั่นเอง
Anti-Rolling Protection (ARP)
ระบบระบบป้องกันการพลิกคว่ำ ถือว่าเป็นระบบใหม่ที่ยังมีติดตั้งอยู่ในเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น ซึ่งมันก็คือการนำเอาระบบ VSC มาเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้มากขึ้นนั่นเอง โดยระบบ ARP จะคอยตรวจจับการหมุนของพวงมาลัย ที่มีการหมุนเร็วหรือกะทันหัน และระบบตรวจจับพบความเอียงของตัวรถที่ผิดปกติ ระบบจะสั่งการให้ VSC เข้ามาทำงานให้ตัวรถกลับมาอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ทันที ลดอัตราเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการพลิกคว่ำได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ทันที
แต่สุดท้ายแล้ว ต่อให้รถเองมีเทคโนโลยีที่มากขนาดไหน แต่ถ้าการขับขี่ยังคงไม่อยู่ในกฎหมายจราจร ทั้งขับรถเร็ว, ขับด้วยความหวาดเสียว, เมาแล้วขับ หรือแม้กระทั่งการบรรทุกคนไว้บนกระบะท้าย ระบบไหน ๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถช่วยป้องกันได้ 100% ดังนั้นการขับขี่ด้วยความระมัดระวัง คือสิ่งสำคัญที่สุดในการลดอุบัติเหตุได้นั่นเอง
เครดิต www.autodeft.com