ในสัปดาห์นี้เรามาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ช่วยในเรื่องการเพิ่มแรงม้าและพลังของเครื่องยนต์แบบเป็นตัวเป็นตนกันบ้างดีกว่า ถ้าหากเป็นบุคคลที่คร่ำวอด หรือ รักการแต่งรถ หรือ โมดิฟายเครื่องยนต์แล้ว ถ้าพูดถึงคำว่า “ระบบอัดอากาศ” ย่อมรู้จักเป็นอย่างดี และ ร้องว่า อ๋อ !! แน่ๆๆ .. แต่ในวันนี้ บทความนี้ เราจะมาทำให้บุคคลที่ใช้รถโดยทั่วไป ที่ไม่รู้จักกับคำว่า “ระบบอัดอากาศ” ได้รู้จักกับคำว่า “ระบบอัดอากาศ” ไปพร้อมๆ กัน
ในยุคสมัยนี้ ระบบอัดอากาศเข้ามามีบทบาทและอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะรถยนต์ในสมัยนี้ เรียกว่าออกจากโรงงานมาได้ถูกติดตั้งระบบอัดอากาศมาพร้อมแล้วหลากหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถในสัญชาติ ไทย / ญี่ปุ่น / ยุโรป / เยอรมัน จะชาติไหนก็แล้วแต่ระบบอัดอากาศนี้เข้ามามีบทบาทมากจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่เพิ่ม สมรรถนะของรถยนต์คันนั้นๆ ได้เป็นอย่างดีไม่ว่ารถยนต์คันนั้น พื้นฐานเครื่องยนต์ จะเป็นแบบเครื่องยนต์ เบนซิน หรือ ดีเซล ก็ตาม
ซึ่งถ้าเอาง่ายๆ เลย ถ้าเอ่ยถึงรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอลเรล แล้วล่ะก็ บอกได้เลย รถกระบะคันนั้น มีการติดตั้งระบบ Turbo chargers จากโรงงานมาเป็นที่เรียบร้อย หรือ ถ้าสังเกตรถยนต์สุดหรูในแนวผู้ดีอย่าง เมอร์ซิเดส เบนซ์ อาจเคยได้ยินชื่อรุ่นลงท้ายว่า “คอมเพรสเซอร์” นั่นก็หมายความว่า รถคันนั้นถูกติดตั้งระบบอัดอากาศในรูปแบบ Supercharger มาจากโรงงานแล้วเช่นกัน
เอาละสิ .. ชื่อต่างกันแต่เป็นระบบ .. อัดอากาศให้กับเครื่องยนต์เหมือนกัน
“งานนี้มันจะต่างกันยังไง และ ใครจะ เจ๋ง กว่ากัน”
Turbo chargers (เทอร์โบ ชาร์จเจอร์) คือระบบอัดอากาศ ที่มีหน้าตาคล้ายๆ ก้นหอย 2 ตัวประกบเข้าหากัน โดย มีช่องทาง อากาศเข้า, ไอเสียเข้า , อากาศที่ถูกอัดเพิ่มแรงออก, ไอเสียที่ใช้งานออก แล้วมีแกนใบพัดที่ถูกติดตั้งทั้งใน โข่งหน้าและโข่งหลังบนแกนเดียวกัน เพื่อเป็นการปั่นพลังสร้างแรงลมเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ให้กับเครื่องยนต์ เพื่อใช้เพิ่มแรงในการจุดระเบิดได้มากขึ้น
Supercharger (ซุปเปอร์ ชาร์จเจอร์) ก็คือ ระบบอัดอากาศอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกับ เทอร์โบ ชาร์จเจอร์ แต่แตกต่างตรงที่หลักการทำงาน และรูปร่างหน้าตาเพียงเท่านั้น ซึ่ง ซุปเปอร์ ชาร์จเจอร์ จะถูกออกแบบมาในลักษณะที่ดูเป็นส่วนประกอบที่กลมกลืนกับเครื่องยนต์ และถูกติดตั้งบนตัวเครื่องยนต์ มีช่องทางเพื่อรับอากาศเข้า (ไอดี) และทางออกเพื่อส่งอากาศที่ถูกอัดเพิ่มอย่างมหาศาล แล้วลำเลียงผ่านท่อทางเดินผ่านลิ้นปีกผีเสื้อเข้าสู่ห้องเผาไหม้ เพื่อไปใช้ในการจุดระเบิด
หน้าที่เหมือนกัน.. แต่หลักการทำงานต่างกัน !!
Turbo chargers มีหลักการทำงานคือ ระบบเทอร์โบชาร์จ จะใช้ไอเสียที่ผ่านการเผาไหม้เข้ามาเป็นแรงลมในการขับเคลื่อนใบพัดที่โข่งหลัง จากนั้นที่โข่งหน้าจะเป็นช่องทางที่รับอากาศเข้า (ไอดี) การทำงานของตัวเทอร์โบชาร์จ จะใช้ไอเสียเข้ามาปั่นโข่งหลังเพื่อให้แกนใบพัดที่โข่งหน้าหมุนตาม เพื่อสร้างแรงดันและดึงอากาศที่เป็นไอดีจากฝั่งขาเข้า แล้วอัดอากาศให้มีปริมาณที่มากขึ้น จากนั้นอากาศจะถูกลำเลียงผ่านท่อทางเดิน โดยกลางทางจะผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “อินเตอร์คูลเลอร์” เพื่อทำความเย็นให้กับอากาศ จากนั้นจะเดินทางผ่านอุปกรณ์ที่ป้องกันการเสียหายของเทอร์โบ ที่เรียกว่า “โบล์วออฟวาล์ว” จากนั้นอากาศที่ถูกเพิ่มแรงดันอย่างมหาศาลก็จะเดินทางผ่านเข้าไปยังลิ้นปีกผีเสื้อ เข้าสู่ท่อรวมไอดีแล้วถูกส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อใช้ในการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ จากนั้นอากาศที่ถูกผลักเข้าไปก็จะคายออกมาในรูปแบบไอเสีย .. ซึ่งไอเสียเหล่านั้นจะถูกวนกลับมาใช้งานในการปั่นที่โข่งหลังต่อ ส่วนไอเสียส่วนเกินก็จะถูกส่งออกมาทางท่อไอเสียท้ายรถเรา นี่คือ วัฐจักร หรือรูปแบบการทำงานของระบบ เทอร์โบชาร์จเจอร์ นั่นเอง
Supercharger มีหลักการทำงานที่แตกต่างจาก Turbo chargers คือ ซุปเปอร์ชาร์จ จะสร้างแรงลมเพื่ออัดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ โดยการใช้สายพานลากกำลังมาจากมู่เล่ ข้อเหวี่ยงหน้าเครื่อง (เหมือนกับสายพานไดร์ชาร์จ / คอมฯแอร์ นั่นหล่ะ) .. เพื่อมาหมุนระบบการทำงานภายใน ซุปเปอร์ ชาร์จเจอร์ เพื่อสร้างแรงลมนั่นเอง จากนั้นอากาศที่ถูกสร้างก็จะลำเลียงเดินทางผ่าท่ออากาศ ผ่านอินเตอร์คูลเลอร์ตามลำดับ เพื่อส่งเข้าสู่ห้องเผาไหม้
ซึ่งระบบ “ซุปเปอร์ ชาร์จเจอร์” นี้จะแตกต่างจาก “เทอร์โบชาร์จเจอร์” ที่ชัดเจน คือ
“เทอร์โบชาร์จเจอร์” … ใช้ไอเสียมาปั่นแกนใบพัดเพื่อสร้างแรงดันอากาศ
“ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์”… ใช้กำลังจากเครื่องยนต์ผ่านสายพานหน้าเครื่อง มาใช้ในการขับเคลื่อนระบบกลไกในตัว ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์ เพื่อสร้างแรงดันอากาศ
บทบาท “ความเจ๋ง” … ที่แตกต่าง ..!!
ถ้าพูดถึง เทอร์โบ หรือ ซุปเปอร์ชาร์จ ล่ะก็คันไหนที่มีย่อม เจ๋ง กว่าคันที่ไม่มีแน่ล่ะ เพราะ มันเป็นสิ่งที่ การันตี ในเรื่องของความแรงสำหรับรถคันนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้ามาเอา 2 ตัวนี้มา งัดข้อ กันเอง ระหว่าง ซุปเปอร์ชาร์จ กับ เทอร์โบ ในความรู้สึกของผู้เขียนรู้สึกว่า มันมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่กินกันไม่ลงมากกว่า
ซึ่งระบบ ซุปเปอร์ ชาร์จเจอร์ เป็นระบบที่สามารถสร้างแรงและกำลังอัดที่สูงได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำๆ เพราะไม่จำเป็นต้องรอไอเสียเข้ามา เพียงติดเครื่องยนต์มู่เล่ หน้าเครื่องหมุนก็สามารถลากสายพานมาขับเคลื่อนกลไกภายในเพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างกำลังอัดที่ตัวซุปเปอร์ชาร์จได้แล้ว แต่ซุปเปอร์ชาร์จ อาจเป็นรอง เทอร์โบชาร์จ ในเรื่องของความอึด ความทน ความสมบุกสมบัน บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการดูแล ..เพราะหากไม่ดูแลรักษาจะใช้อะไรยังไงก็พัง ..!! ดังนั้น ถ้าต้องการตอบสนองอัตราเร่ง อย่างรวดเร็ว เรียกใช้งานกันตั้งแต่รอบเครื่องต่ำๆ ซุปเปอร์ชาร์จอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะกว่า
แต่ในส่วนของเทอร์โบชาร์จ แน่นอน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือเรื่องของความอึด ความทน และ การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย ดังนั้นเราจึงเห็นรถยนต์มีการเลือกใช้ เทอร์โบ มากกว่า ซุปเปอร์ชาร์จ แต่ข้อเสียของ เทอร์โบชาร์จ คือ การรอรอบ เพราะ ระบบเทอร์โบชาร์จ จะทำงานก็ต่อเมื่อรอบเครื่องยนต์ปล่อยไอเสียออกมาตามที่กำหนดและอยู่ในสภาวะและปริมาณอากาศที่เทอร์โบสามารถสร้างแรงดันได้ ถ้าในช่วงเวลานั้น ไอเสียไม่พอ เทอร์โบ ก็จะไม่ทำงาน จะต้องมีการรอเพื่อให้พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งถ้ามันทำงานแล้วก็ จะมีอาการดึงแบบหลังติดเบาะขนาดไหน ก็อยู่ที่อัตราการกำหนดว่า จะให้ บูสต์ ไว้ที่ไหร่นั่นเอง และ สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นชัดๆ นั่นคือ ความร้อนที่ตัวเทอร์โบเอง ความร้อนที่ตัวมันเองมีมหาศาลมาก ๆ ร้อนกันแบบสุดๆ เพราะตัวมันเองเอาไอเสียเข้ามาใช้งานและ แกนใบพัดที่หมุนในความเร็วรอบแบบมหาศาล มันก็ต้องมีความร้อนจากการทำงานของตัวมันเองด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ระบบอัดอากาศทั้ง 2 รูปแบบนี้ มองดูแล้วข้อได้เปรียบเสียเปรียบ เมื่อนำมาพิจารณาและหักล้างกันแล้ว มันก็ “เจ๋ง” ด้วยกันทั้ง 2 แบบ .. ดังนั้น “ใครจะกิน ซุปฯ หรือ ผูกโบฯ” ก็เลือกใช้ให้เหมาะสมตามรูปแบบการใช้งาน หรือ ตามสไตล์ในการขับขี่ จากนั้นก็ดูแลบำรุงรักษาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ซึ่งทั้ง 2 ระบบอัดอากาศนี้ก็สามารถใช้งานได้อย่าง เมามันส์ แล้วล่ะคับ
เมื่อให้ข้อมูลมาถึงตรงจุดนี้แล้วต้องมีคำถามแน่ๆ ว่า “ถ้ารถเราเดิมๆ ไม่มีระบบอัดอากาศ..จะติดตั้งเพิ่มเติมได้หรือไม่” คำตอบก็คือสามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ แต่มันจะจำเป็นหรือคุ้มค่าหรือไม่นั่นคือสิ่งที่เจ้าของรถต้องพิจารณาเอง เพราะอาจต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงในระดับหนึ่งเลย และ รถเครื่องยนต์เดิมๆ ที่ไม่มีการติดตั้งระบบอัดอากาศจากโรงงานมานั้น เครื่องยนต์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกำลังอัดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการติดตั้งระบบอัดอากาศเพิ่มเติมก็ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญในการติดตั้ง เพราะนอกจากต้องสร้างจุดยึดแล้วยังอาจต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆภายในเครื่องยนต์ รวมถึงการปรับแต่งส่วนผสมต่างๆ ให้เหมาะสมเพื่อให้รองรับกับกำลังอัดที่เพิ่มขึ้นได้นั่นเอง .. ซึ่งรายละเอียดการติดตั้งระบบอัดอากาศเพิ่มเติมให้กับเครื่องยนต์ (N/A) จะมีรายละเอียดอย่างไร หากมีโอกาส ทาง Carvariety จะรวบรวมข้อมูลแล้วนำมานำเสนอในโอกาสต่อไปล่ะคับ
เครดิต www.carvariety.com