หากเกียร์ธรรมดามีเสียงดัง อาจเกิดจาก 3 อาการนี้
อาการที่ 1
จะเกิดจากนอกห้องเกียร์ เป็นเสียงแตกเสียงคราง หรือเสียงหอน เกิดจากชิ้นส่วนที่ช่างมักเรียกกันว่า ลูกปืนปลายเกียร์สี่ หรือ ลูกปืนฟลายวีล (Pivot bearing) เป็นลูกปืนที่ฝังอยู่กับฟลายวีล โดยมีเพลาของปลายเกียร์สี่ (Input shaft) สอดแน่นอยู่ในนั้นตลอดเวลาลูกปืนจะหมุนตลอดเวลาที่เครื่องยนต์หมุน ความร้อนที่เกิดขึ้น การเสียดสีของเหล็ก (ลูกปืน) กับ เสื้อลูกปืน ตลอดเวลาทำให้ลูกปืน และเสื้อสึกหรอ เกิดเสียงดัง นานเข้าก็จะได้ยินมาถึงห้องโดยสาร
ภาพตัวอย่างของฟลายวิล
วิธีการแก้ไขมีทางเดียว คือ เปลี่ยนลูกปืน อาการก็จะหายขาด ส่วนวิธีป้องกันมีทางเดียว คือ ทุกครั้งที่ยกเกียร์ออกเปลี่ยนชุดผ้าคลัตช์ก็เปลี่ยนลูกปืนนี้ไปพร้อมกัน เสียงดังจากลูกปืนปลายเกียร์สี่ก็จะไม่มีให้ได้ยิน การรอให้ลูกปืนแตกชำรุดแล้วเปลี่ยนเฉพาะลูกปืน ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องจ่าย เพราะค่าแรงที่เปลี่ยนลูกปืนนี้ เท่ากับค่าแรงที่ยกคลัตช์ ถ้าทำไปพร้อมกันค่าแรงก็เท่ากับที่ยกคลัตช์เท่านั้น
อาการที่ 2
เสียงหอนจากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่ง เสียงนี้เป็นเสียงที่แก้ไขได้ยากและต้องเสียเงินเสียทองกันมาก เช่น เสียง เกียร์สามหอน ในขณะเร่งเครื่องลากเกียร์ เพื่อจะเปลี่ยนเป็นเกียร์สี่ อาการนี้มักจะเกิดจากการสึกหรอ ที่เรียกว่า เป็นตามดในลูกปืนของชุดเกียร์ทั้งราว หรือเกิดจากการสึกหรอที่เฟืองเกียร์จนเป็นตามดของชุดเฟืองเกียร์สาม
ทางแก้มีวิธีเดียว คือ การยกเกียร์ผ่าเกียร์ ออกมาตรวจดูการสึกหรอ (ตามด,ไหม้) ของลูกปืนเกียร์และเฟืองเกียร์ จะมีค่าใช้จ่ายสูงและยากที่จะแก้ไขได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากเปลี่ยนลูกปืนในห้องเกียร์ รวมทั้งเฟืองเกียร์ทั้งหมด ทางเลือกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการหาเกียร์มือสอง จากเซียงกงมาเปลี่ยน
เมื่อซ่อมไม่คุ้มราคา..การเลือกซื้อเกียร์มือสองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
การป้องกันการสึกหรอในแบบนี้ก็คือ การหมั่นเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ (ตามหนังสือคู่มือ) เลือกใช้น้ำมันเกียร์ในเกรดหรือชนิดที่ถูกต้องที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนดเอาไว้ และเปลี่ยนพฤติกรรมการขับที่จะลากเกียร์ที่เกียร์ใดเกียร์หนึ่งนานๆ พร้อมทั้งตรวจระดับน้ำมันเกียร์ และท่อหายใจของเสื้อเกียร์อย่างสม่ำเสมอ
อาการที่ 3
เกียร์มีเสียงคราง หรือพูดกันทั่วไปว่าเกียร์ดัง เสียงเกียร์ครางจะเกิดขึ้นจากการติดเครื่องเข้าเกียร์ว่างแล้วจะได้ยินเสียง เกียร์ดัง (เฟืองเกียร์สองเฟืองกระทบกัน) และเสียงนี้จะหายไปเมื่อกดหรือเหยียบแป้นคลัตช์เพียงเบาๆ
ต้องมาเข้าใจกันก่อนว่า เมื่อเครื่องยนต์ติดเครื่องและอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่างชุดคลัตช์ (ผ้าคลัตช์ หวีคลัตช์) ที่เกาะอยู่กับฟลายวีลจะหมุนตามการหมุนของฟลายวีล (เครื่องยนต์) ตลอดเวลา (คลัตช์จับ) พร้อมๆ กับเฟืองปลายเกียร์สี่ (Input shaft) ทีจะมีเฟืองตัวหนึ่งไปขบกับเฟืองชุดเพลารอง (Counter shaft) ทำให้ชุดเฟืองของเพลารองหมุนตามเครื่องอยู่ตลอดเวลา การหมุนตามเครื่องของเฟืองเกียร์สี่และเพลารอง ทำให้มีเฟืองตัวอื่นๆ หมุนตามด้วยแม้จะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง การขบกันของเฟืองแต่ละคู่แม้จะเป็นเพียงการหมุนตามกันก็ทำให้เกิดเสียงดัง ขึ้นได้ (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน)
ในระหว่างเฟืองสองเฟืองที่ขบกันอยู่นี้ จะมีช่องว่างที่เรียกว่า แบกแลช (Backlash) เป็นระยะเศษเสี้ยวของ พันมิลลิเมตร เพื่อให้มีช่องทางที่น้ำมันเกียร์จะระบายความร้อนและหล่อลื่นเฟืองเกียร์ นั้นๆ เสียงครางจะดังมากดังน้อย ขึ้นอยู่กับความห่างระหว่างเฟืองทั้งสองตัวห่างมากก็ดังมาก ห่างน้อยก็ดังน้อย และถ้าชิดเกินไปเฟืองก็จะไหม้
การพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะมองถึงระยะห่างของร่องเฟืองแล้ว ยังต้องมองถึงระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟือง (End play) ที่อยู่ในแถวเดียวกันด้วย ในหลายๆ กรณีที่ระยะห่างของ เฟืองต่อเฟือง ที่ขบกันจะมีระยะห่างที่พอดีหรือเหมาะสมตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดหรือออกแบบไว้ แล้ว แต่ระยะชิดกันของเฟืองต่อเฟืองถ้าพลาดไปจากที่ถูกออกแบบไว้ (เศษของพันมิลลิเมตร) ก็จะทำให้เฟืองเบียดกันส่งผลถึงการขบกันระหว่างที่ผิดไป เสียงดังก็จะเกิดขึ้นมีมากมาย
หลายคำถามที่บอกว่า แล้วชุดคลัตช์มาเกี่ยวด้วยอย่างไร เพราะเมื่อแตะ กด เหยียบคลัตช์เพียงเบาๆ เสียงที่ได้ยินก็เงียบหายไป คำตอบมีอยู่ว่า ทันทีที่เท้ากดไปบนแป้นคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์ในหัวหมูเกียร์จะวิ่งไปกดแผ่นกดคลัตช์ ทำให้ผ้าคลัตช์ถอยห่างจากฟลายวีล กำลังงานจากเครื่องยนต์ก็จะหยุดอยู่ที่ฟลายวีลเท่านั้น กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เรียกว่า คลัตช์จาก เมื่อคลัตช์จากเฟืองเกียร์สี่ไม่หมุน ชุดเพลารองไม่หมุนตาม ทุกส่วนในห้องเกียร์หยุดการเคลื่อนไหว เสียงที่ได้ยิน (เหล็กกับเหล็กกระทบกัน) จึงไม่มี เกียร์ครางเมื่อเกียร์ว่าง เกิดขึ้นได้กับทั้งรถใหม่และรถเก่า ถ้าเป็นรถเก่าเฟืองเกียร์สึกหรอ ระยะชิดของเฟืองในแถวจะห่างกัน แก้ไขโดยการเปลี่ยนเฟืองเกียร์ หรือปรับตั้งทั้งระยะห่างและระยะชิด รถใหม่ (ไม่ถึงหกหมื่นกิโลเมตร) ผ่าเกียร์ตรวจสอบระยะห่างแบกแลชและระยะชิด (End play) แล้วปรับตั้งใหม่ หรือออกแบบเฟืองเกียร์ ปรับปรุงวัสดุ กันใหม่ แน่นอนครับที่ผู้ผลิต (รถใหม่) ยากที่จะยอมรับความจริงในข้อนี้
เครดิต www.heremoo.com