จอดรถนานช่วงโควิด-19 ต้องดูแลอะไรบ้าง?
สถานการณ์ช่วงวิกฤติของโคโรน่าไวรัส หรือ โควิด-19 ระบาดหนักมาก ทำให้ภาครัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ที่ขอความร่วมมือในการไม่ออกจากบ้าน ไม่เดินทางข้ามจังหวัด ลดการเดินทางต่าง ๆ และห้ามมีการจัดกิจกรรมใดใดในระหว่างการเฝ้าระวังโควิด-19 เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ อาจมีทั้งผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน Work From Home (WFH) หรืออาจถูกเลิกจ้างชั่วคราวไปจนถึงปิดกิจการก็มี ทำให้นอกจากจะต้องหยุดอยู่บ้านแล้ว การงดใช้รถยนต์ หรือว่ารถสาธารณะเพื่อเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ลดน้อยลง จนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น จึงกลับสู่สภาวะปกติได้
สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องจอดรถยนต์นาน ๆ ไม่ได้ใช้งานจากเหตุการณ์นี้ไว้หลายวัน จำเป็นต้องมีการดูแลและรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานตลอด ซึ่งผลเสียของการจอดทิ้งเอาไว้โดยไม่มีเวลาดูแลอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น แบตเตอรี่หมดบ่อยและเสื่อมเร็วก่อนอายุใช้งาน ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอาจสะดุด มีสาระพัดสัตว์เข้าไปทำอันตรายในห้องเครื่อง หรือ ลมยางอ่อน ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถใช้งานเมื่อมีเหตุจำเป็น มาดูว่ามีอะไรบ้าง
จอดที่อากาศถ่ายเท
การจอดรถควรจอดในจุดที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ชื้นหรือร้อนเกินไป เพื่อไม่ให้ภายในรถมีความอับชื้น และหมั่นเปิดประตูหรือกระจกระบายอากาศบ้างในบางเวลา และหลีกเลี่ยงการจอดตากแดด ทั้งวัน เพราะจะทำให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในต่าง ๆ เช่น พวงมาลัย คอนโซลหน้า เบาะ เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรมีผ้าคลุมหรือแผงบังแดดเพื่อช่วยลดความร้อนสัมผัสโดยตรง
น้ำมันห้ามต่ำกว่าครึ่งถัง
การจอดรถทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้ขยับเคลื่อนที่ ควรเติมน้ำมันให้สูงกว่าระดับครึ่งถัง เพื่อไม่ให้ช่องว่างระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงและส่วนบนของถังเกิดความชื้นและกลายเป็นน้ำเกาะด้านบนถัง อาจจะทำให้เกิดสนิมภายในถังน้ำมันได้ และหากเป็นไปได้ควรเติมน้ำมันประเภทที่มีส่วนผสมเอทานอลไม่เกิน E10 เพื่อลดการเกิดความชื้นในถังน้ำมัน
สตาร์ทวอร์มเครื่องยนต์บ่อย ๆ
ควรสตาร์ทเครื่องยนต์บ่อย ๆ ทิ้งเอาไว้ 5 – 10 นาที ให้อยู่ในอุณหภูมิทำงานเทียบเท่าปกติ และอาจเหยียบเบรกเข้าเกียร์ในต่ำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้ระบบน้ำมันเกียร์ได้ทำงานบ้าง หรือหากไม่มีเวลาก็วันเว้นวันหรือตามความสะดวก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรจอดทิ้งนานกว่า 4 วัน และถ้าสะดวกที่จะขยับรถออกไปบ้างก็ยิ่งดีครับ
ขยับรถยืดเส้นยืดสายบ้าง
การสตาร์ทรถวอร์มอัพเครื่องยนต์นับว่าเป็นวิธีดี และยิ่งมีเวลาในการขับออกไปยืดเส้นสายบ้างระยะทางใกล้ ๆ ยิ่งดีกว่า โดยอย่างน้อยก็ควรวิ่งด้วยระยะทาง 10 กิโลเมตร เพื่อให้ระบบและชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ทำงานเต็มที่และให้ระบบการชาร์จไฟทำงานเต็มระบบ นอกจากนี้ยังช่วยให้ยางได้ “กลิ้ง” บ้าง ไม่ให้รับน้ำหนักในจุดเดียวนาน ๆ
ถอดขั่วแบตฯ ออกหากจอดนาน
หากจำเป็นต้องจอดนาน ๆ โดยไม่มีคนค่อยดูแล อาจจำเป็นต้องถอดขั้วแบตเตอรี่ฝั่งขั้วบวก (สีแดง) ออก เพื่อไม่ให้ไฟในแบตเตอรี่หมดเร็วเกินไป ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ค่อยมีผลดีมากนัก เพราะว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ บางรุ่น มีอุปกรณ์จำเป็นในการใช้ระบบไฟฟ้าเข้าไปเลี้ยงให้ทำงาน เช่นระบบกันขโมย ระบบแมมโมรี่ความจำการอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น วิธีนี้อาจเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งวิธีนี้ก็อาจดีกว่าแบตเตอรี่หมดบ่อยทำให้แบตเตอรี่เสื่อม และต้องเปลี่ยนบ่อย
เช็คลมยาง
เมื่อจอดนิ่งนาน ๆ การคอยดูลมยางก็นับว่าสำคัญ เพราะแรงดันจะค่อย ๆ ลดลง จนอาจจะอ่อนจนแบนเร็วกว่าการใช้งานหรือขับขี่เป็นประจำ ดังนั้น เมื่อจอดนาน ๆ เกินกว่า 1 สัปดาห์ควรขับรถออกไปเช็คลมยางบ้าง
เปิดกระโปรงบ่อย ๆ
เปิดฝากระโปรงรถบ่อย ๆ เพื่อตรวจเช็คโดยรวม ได้แก่ ระบบท่อทางเดินทางน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำหม้อน้ำ ท่อทางต่าง ๆ สายไฟ ระบบน้ำมันเบรก น้ำกลั่นในแบตเตอรี่ (ถ้ามี) และสตาร์ทเครื่องยนต์ฟังเสียงว่ามีความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจเช็คสภาพสายพาน อุปกรณ์ระบบแอร์ว่ายังเย็นจัดอยู่โดยไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์หรือไม่ การเปิดฝากระโปรงรถดูบ่อย ๆ นอกจากจะเช็คความผิดปกติของห้องเครื่องแล้ว ยังเป็นการตรวจสอบดูว่าใต้ฝากระโปรงมี “มิคกี้เมาส์” หรือมี “งู” มาทำรังหรือไม่ เพราะใต้ฝากระโปรงรถนับเป็นจุดที่มีความสมบูรณ์ทั้งความชื่น ความปลอดภัย (สำหรับพวกเขา) หากจอดทิ้งไว้นานโดยไม่มีการติดเครื่อง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดคือ สายไฟขาดเนื่องจาก “หนูแทะ”
แบนเลยจอดนานไปหน่อย
การจอดรถเอาไว้โดยไม่มีการใช้งานหรือว่าใช้งานน้อยเกินกว่า 10 กิโลเมตรต่อวัน อาจทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างที่ควรเคลื่อนไหว ฝืด ติดขัดและสึกหรอมากเมื่อมีการสตาร์ทเครื่องยนต์หรือว่ามีการเคลื่อนไหวหลังจากถูกหยุดนิ่งนาน ๆ ดังนั้น การจอดรถทิ้งเอาไว้นาน ๆ เท่ากับมีการสึกหรอไม่แตกต่างจากการใช้งานทุกวัน จึงควรดูแลและให้มีการใช้งานบ้าง เพื่อรถของคุณมีสภาพพร้อมขับขี่อย่างปลอดภัยต่อไปอีกยาวนาน
เครดิต www.checkraka.com