เมื่อได้ทำพิธีรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว ก็มาถึงการนำศพเข้าโกศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนนี้จะเป็นเจ้าพนักงานภูษามาลา คราวที่แล้วผมเรียกว่าสนมพลเรือนตลอดเพราะคิดว่าภูษามาลาจะถวายการปฏิบัติเฉพาะพระศพเจ้านายเท่านั้น ท่านแก้ว่าไม่ สนมพลเรือนจะทำงานประเภทยกแยกแบกหาม การสุกำศพจะต้องกระทำโดยภูษามาลาเท่านั้น ปัจจุบันยังมีเจ้าพนักงานภูษามาลารับราชการอยู่ร่วมสามสิบคน ศพที่นอนอยู่บนเตียงตั่งจะถูกยกเข่าขึ้นแนบมากับท้อง จัดเหมือนท่านั่งชันเข่า แล้วรวบแขนเอามืออ้อมขามาไว้ข้างหน้า ผมลงนั่งยองๆทำท่าเอาแขนอ้อมเข่าไปพนมมือให้ท่านดู ซึ่งทำได้ยากยิ่งแต่ก็ทำได้ ท่านหัวเราะบอกว่าอย่างคุณนี่สบายมาก โดนกัปปาสิกะ(เชือกทำด้วยด้ายดิบขาว) ขันชะเนาะทีเดียวก็เข้าที่ ผมยังไม่หายสงสัยว่าร่างกายขนาดผมนี่เข้าโกศจะต้องมีคนขย่มบ่าด้วยหรือเปล่า ท่านทำหน้างงว่าทำไมต้องทำ ก็ใช้โกศใหญ่หน่อยซี เอ้อ นี่ก็ความรู้ใหม่นะครับ โกศมิได้มีขนาดเดียว แต่มีครบทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดผู้หญิง ผู้ชาย อ้วนหรือผอม
ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต่างกับกระทู้ที่แล้ว ผมคงเกิดสัญญาดับที่ไปจำภาพกาจับหลักต่างกับที่ท่านเล่ามากทีเดียว
กาจับหลักเป็นเสาไม้ตั้งยึดบนแป้นไม้ ตรงปลายเป็นก้านโลหะ สุดปลายเป็นง่ามรูปตัวยู ดัดสอดเข้าไปเชยคางของศพไว้ เพื่อประคองมิให้ทรุดพับลงมาเมื่อสังขารสลาย
ภาพที่ผมเขียนขึ้นใหม่ แสดงรูปตัดของโกศเห็นลักษณาการของศพที่บรรจุไว้ข้างใน
เมื่อวางศพให้อยู่ภายในโกศแล้ว ก็จะใช้หมอนเล็กๆหนุนให้ร่างกายและศีรษะตั้งตรง จะรวบปลายผ้าสุกำศพซึ่งขมวดเป็นปมคล้ายจุกเหนือศีรษะของศพนั้น ผูกเข้ากับด้ายสายสิญจน์ต่อไปกับภูษาโยงที่ใช้ทอดหน้าอาสนะสงฆ์เวลาบังสุกุลศพต่อไป ภูษาโยงนี้ห้ามข้ามกรายเป็นอันขาด เพราะถือเสมือนกับข้ามศีรษะศพ
หลังขั้นตอนดังกล่าวแล้ว จะปิดฝาลองในแล้วยาด้วยขี้ผึ้ง เชิญโกศขึ้นตั้งบนเบญจา แล้วประกอบโกศลองนอกหุ้ม เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพต่อไป
เมื่อศพถึงกำหนดออกเมรุ เจ้าพนักงานภูษามาลาจะต้องมากระทำการเปลื้องเครื่องสุกำศพ หรือคือการเปลี่ยนผ้าห่อศพใหม่ โกศลองนอกที่ประกอบไว้จะถูกถอดออก โกศลองในจะถูกยกลงมา เพื่อนำศพออกมาทั้งห่อแล้วจะเปลื้องผ้าขาวและหมอนออกไปแยกเผาต่างหาก ศพในขณะนี้จะเหลือซากนิดเดียว ท่านยืนยันว่าไม่มีการรูด ต้มยิ่งไม่มีใหญ่ ในห้าสิบปีที่ผ่านมาของท่าน ท่านไม่เคยเห็นทั้งรูดทั้งต้ม
ภาพจำลองของผ้าห่อศพ
ศพจะถูกห่อใหม่ตามแบบเดิม ซึ่งตอนนี้เหลือห่อนิดเดียวแล้ว บรรจุลงไปในโลงไม้ขนาดเล็กสีขาวที่กระทู้ก่อนผมเรียกว่ากล่อง แล้วจึงใส่กลับลงไปในโกศลองในใหม่ พร้อมที่จะเคลื่อนไปสู่เมรุเพื่อพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ส่วนศพสมัยนี้ที่มิได้ลงโกศ ถ้าขึ้นเมรุอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทร์ ก็ต้องนำออกมาจากโลง แล้วห่อใส่โกศตามวิธีการเดียวกับที่กล่าวไปแล้ว เพื่อตั้งเหนือจิตกาธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่เรียกว่าเผาหลอก ครั้นถึงเวลาเผาจริงก็ยกโลงไม้ออกมาจากโกศเพื่อใส่เข้าเตา แล้วเผาจริงตามกรรมวิธีสมัยใหม่ต่อไป
ส่วนเมรุวัดอื่น เช่นวัดมกุฏฯ ผมเห็นศพที่เจ้านายเสด็จมาพระราชทานเพลิงหลอกที่โกศเปล่า
ครั้นเสด็จกลับถึงเวลาเผาจริง ก็ยกโลงศพเดิมแต่แรกที่วางไว้ด้านหลังของเมรุ มาใส่เตาแล้วเผาเหมือนศพทั่วไป
กลับมาที่ศพที่เข้าโกศแบบสมัยก่อน จะต้องมีการเผาบุพโพหรือน้ำเหลืองที่ใหลจากก้นโกศมาเก็บอยู่ในถ้ำ จะถูกนำไปเผาพร้อม ๆกับเครื่องสุกำศพ
ดีบุก
แท้จริงแล้วมีตะแกรงกันในลักษณะนี้ แต่นำออกไปแล้ว
สมัยก่อนสนมพลเรือนจะถ่ายบุพโพ ลงในกระทะทอง พร้อมเครื่องเทศต่างๆดับกลิ่น เช่น ลูกฝรั่งสุก ใบเนียม ที่สำคัญคือขี้เลื่อย ของเจ้านายจะเป็นไม้หอม นอกนั้นก็ใช้ขี้เลื่อยธรรมดาที่หาได้มาคลุกเคล้า แล้วตากแดดให้แห้งก่อนที่จะเอามาเผา จนมอดเป็นเถ้า การเผาในกระทะ แม้สสารในกระทะจะมิใช่ของเหลว ท่านก็เรียกว่าเคี่ยว ทำให้เกิดภาพพจน์ไปอีกอย่าง
เครดิต www.btsstation.com