เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลือกซื้อรถยนต์ใหม่ สิ่งที่ติดมากับรถยนต์ทุกคันคือเรื่องรับประกันคุณภาพ แต่ละค่ายก็จะมีระยะทางหรือเวลาที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าค่ายนั้นมีนโยบายในการรับประกันเป็นแบบไหน แต่การรับประกัน มันไม่ได้หมายความว่าจะครอบคลุมทุกอย่าง เพราะมันจะมีเงื่อนไขระบุเอาไว้อยู่ที่ค่าย ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่า การรับประกันคุณภาพรถยนต์ใหม่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไหนบ้าง ลองมาดูกัน
รับประกันคุณภาพตามกำหนด
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลือกซื้อรถยนต์ใหม่ ค่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์ ส่วนระยะทางนั้น รถยนต์ใหม่มักจะมีระยะทางวิ่งไม่เกิน 100 กิโลเมตรอยู่แล้ว ดังนั้นค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ก็จะนับตามเลขไมล์ที่หน้าปัดเป็นสำคัญ
รับประกันเฉพาะชิ้นส่วนหลัก
ในที่นี้หมายถึง ค่ายรถยนต์จะรับประกันในชิ้นส่วนหลักที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง เช่น เครื่องยนต์, แชสซี, เพลาขับ, เกียร์, พวงมาลัย, เพลาหน้า เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนให้ฟรีทันที เมื่อเกิดปัญหาแล้วทางศูนย์บริการประเมินแล้วว่าเป็นความบกพร่องของวัสดุ หรือฝีมือการประกอบ ส่วนชิ้นส่วนอื่นที่เป็นวัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำมันเครื่อง, ผ้าเบรก, ไส้กรองต่าง ๆ , ผ้าคลัตช์, ยางปัดน้ำฝน เป็นต้น จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน ถ้าเกิดการเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน ผู้เป็นเจ้ายของรถจะต้องรับผิดชอบเอง ส่วนวัสดุอื่น อย่างเช่นแบตเตอรี่, ยางรถยนต์ จะมีการแยกการรับประกันไปต่างหาก แต่ส่วนใหญ่แล้วแบตเตอรี่จะรับประกันที่ 1 ปี 20,000 กิโลเมตร และยางรถยนต์จะรับประกันที่ 2 ปี 40,000 กิโลเมตร อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่นโยบายของแต่ละแห่ง
ต้องเข้าศูนย์บริการตามกำหนดเท่านั้น
เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ เพื่อที่จะให้ผลการรับประกันรถยนต์ใหม่ยังคงอยู่ต่อไปได้ ก็คือการเข้ารับการบำรุงรักษาที่ศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของค่ายรถยนต์ที่ใช้อยู่ ตามที่สมุดคู่มือระบุเอาไว้ อย่างเช่น ที่ 10,000 กิโลเมตรต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง, ไส้กรองน้ำมันเครื่อง, ที่ 40,000 กิโลเมตร ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และน้ำมันเบรก เป็นต้น ซึ่งถ้าเราเกิดไม่ได้ปฏิบัติตามที่คู่มือระบุเอาไว้ อย่างเช่น ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์บริการในระยะที่กำหนดเอาไว้ที่ 10,000 กิโลเมตร แต่ไปเปลี่ยนที่ 20,000 กิโลเมตรแทน เมื่อมีชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์เกิดความเสียหาย อาจเป็นเหตุให้ทางศูนย์บริการสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในอาการเสียหายได้ หรือถ้าเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายตามระยะ แต่ไม่ได้เข้ารับการบริการที่ศูนย์บริการอย่างเป็นทางการของแต่ละค่าย ทางผู้ผลิตก็สามารถปฏิเสธการรับประกันได้เช่นกัน
ต้องไม่มีการดัดแปลงไปจากโรงงาน
หลายคนที่พบปัญหาการใช้งาน แต่ถูกปฏิเสธการรับประกันชิ้นส่วนบางอย่าง อย่างเช่น มีการเปลี่ยนแม็กซ์ชุดใหม่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และยางมีขนาดบางลง แต่โช้ครั่วเมื่อใช้งานไปได้เพียงปีเดียว แบบนี้ถือว่าทางผู้ผลิตสามารถทำการปฏิเสธได้ เพราะการดัดแปลงนั้นส่งผลให้มีผลเสียต่อเนื่องไปยังชิ้นส่วนนั้น ๆ ได้ หรือถ้ามีการติดตั้งสัญญาณกันขโมยใหม่ แล้วส่งผลให้ ECU ในรถยนต์เสียหาย ทางผู้ผลิตก็สามารถปฏิเสธได้เช่นกัน แต่ถ้าการดัดแปลงนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น มีการติดตั้งสัญญาณกันขโมยใหม่ แต่เฟืองท้ายมีอาการเสียหายในระยะรับประกัน แบบนี้ทางค่ายรถยนต์ไม่มีสิทธิ์ในการปฏิเสธการรับประกันรถยนต์ใหม่ได้
ไม่มีการใช้งานแบบผิดประเภท, ผิดรูปแบบที่กำหนดเอาไว้
ในที่นี้จะหมายถึง การใช้งานที่ผิดแปลกไปจากการใช้งานปกติ เช่น การขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด, การบรรทุกเกินกว่าสเปกของรถกำหนดเอาไว้, นำรถเก๋งไปวิ่งในเส้นทาง Off-Road ด้วยความเร็ว, นำรถไปลุยน้ำลึกเกินกว่าที่กำหนด เป็นต้น รวมทั้งการเติมน้ำมันผิดไปจากที่กำหนดเอาไว้ อย่างเช่นสเปกกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องเติมน้ำมันได้แค่ E20 แต่ผู้ซื้อนำไปเติม E85 แล้วเกิดเครื่องยนต์มีอาการเสียขึ้นมา ถ้าหากทางผู้ผลิตรถยนต์สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่ามีการใช้งานผิดประเภทเหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธในการรับประกันได้เช่นกัน
ไม่ครอบคลุมความเสียหายจากการใช้งานทั่วไป
ความเสียหายในที่นี้หมายถึงความเสียหายที่ไม่ใช่จากการผิดพลาดในการผลิต เช่น กระจกแตก, สีด่างจากขี้นกหรือสารเคมี, น้ำท่วม, การกัดกร่อนของน้ำทะเล หรือแม้กระทั่งผลเสียหายต่อเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุ ความเสียหายเหล่านี้ จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน ผู้ใช้งานรถยนต์ใหม่คันนั้นต้องรับผิดชอบเอง
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงเงื่อนไขเบื้องต้นที่ทางค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่จะตั้งเอาไว้ ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดลึกลงไปอีก ตามที่แต่ละผู้ผลิตจะกำหนดเอาไว้ ดังนั้นก่อนจรดปากกาซื้อรถยนต์ใหม่ทุกครั้ง ควรอ่านเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพเอาไว้ให้ละเอียดก่อน และพยายามใช้งานแบบปกติในช่วงระยะรับประกัน เวลารถยนต์ของเรามีปัญหา จะได้ไม่ต้องมาคอยถกเถียงกันเรื่องซ่อมหรือไม่ซ่อมให้จะดีที่สุดเลยครับ
เครดิต www.autodeft.com