ระบบเกียร์คือส่วนประกอบที่สำคัญของรถยนต์ เกียร์ที่ใช้งานมานาน หรือใช้งานหนักอาจเริ่มออกอาการงอแง ในบทความนี้เรามาดูกันครับ ว่าเกียร์ที่เริ่มมีปัญหา จะมีอาการแบบไหน
อาการที่บ่งบอกถึงเกียร์ที่มีปัญหา
-
เข้าเกียร์แล้วรถไม่ค่อยอยากจะออกตัว
อาการรถไม่ออกตัว โดยเฉพาะในเกียร์เดินหน้า(D) หรือเกียร์ถอยหลัง(R) อาการนี้มีสาเหตุจากขาดการดูแลบำรุงรักษา โดยเฉพาะรถจอดหรือรถที่ไม่ค่อยได้วิ่ง ทำให้น้ำมันเกียร์มีปริมาณไม่ถูกต้อง เช่น น้อยเกินไปหรือมากเกินไป แก้ไขได้โดยเติมน้ำมันให้ได้ระดับที่ถูกต้อง ก็สามารถที่จะใช้งานได้ตามปกติ
แต่ถ้าอาการนี้ถ้าเกิดขึ้นกับรถที่มีระยะการใช้งานมากกว่า 100,000 กิโลเมตรขึ้นไป และได้รับการดูแลบำรุงรักษาตามปกติ ก็จะเกิดจากการสึกหรอภายในชิ้นส่วนของเกียร์ต่างๆ เช่น ชุดผ้าคลัตช์, ชุดวาล์ว ควบคุมแรงดัน การแก้ไขเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องยกเกียร์ออกมาผ่า, โอเวอร์ฮอล์เกียร์ (overhaul) หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนเกียร์นั้นๆ หรืออาจรุนแรงถึงขึ้นยกเกียร์ลูกใหม่กันเลยทีเดียว
- เข้าเกียร์ D หรือ R แล้วกระตุกหรือกระชาก
อาจเกิดจากการออกรถในขณะที่อุณหภูมิของเครื่องยนต์ไม่ถึงเกณฑ์ทำงาน ออกรถในขณะที่เครื่องยังเย็นอยู่ หรือเมื่อใช้งานไปแล้ว (เครื่องร้อนแล้ว) แต่น้ำมันเกียร์ยังไม่ถึงอุณหภูมิที่ถูกต้อง (เกียร์เย็น) หรือน้ำมันเกียร์ร้อนเกินกว่าที่กำหนด การแก้ไขต้องเริ่มที่ตรวจวัดระดับน้ำมันเกียร์ รวมทั้งคุณภาพของน้ำมันเกียร์ ตามด้วยการตรวจเช็กระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์และน้ำมันเกียร์
-
เกียร์เปลี่ยนเร็วหรือช้ากว่าปกติ
อาการนี้เกิดจากการปรับตั้งสายเกียร์ที่ไม่ถูกต้อง (ในรุ่นที่มีสายเกียร์) แก้ไขโดยการปรับตั้งใหม่ ในรุ่นที่ควบคุมระบบไฟฟ้า ให้เคลียร์เมมโมรีของสมองเกียร์ (Transmission Control Module) หรือตรวจสอบวาล์วควบคุมทางเดินน้ำมันด้วยไฟฟ้าว่า มีน้ำมันเกียร์มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งน้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพ แก้ไขด้วยการเติมหรือลดส่วนที่เกินออก หรือเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ การอุดตันของทางเดินน้ำมันเกียร์ในสมองเกียร์ (Valve body) แก้ไขด้วยการถอดสมองเกียร์ (โดยช่างที่ชำนาญ) ออกมาล้างทำความสะอาด อาจมีการรั่วซึมภายในระบบเกียร์ของชุดเกียร์ต่างๆ เช่น แหวนกันน้ำมัน ลูกสูบวาล์ว (ลิ้นปิดเปิด ทั้งแบบกลไกหรือแบบไฟฟ้า)
-
เกียร์สุดท้ายไม่มีและหรือไม่มีคิกดาวน์
อาการไม่มีคิกดาวน์ ถ้าเกิดขึ้นหลังจากการซ่อมเกียร์ (ผ่าเกียร์) มักเกิดจากการประกอบผิดพลาด, ชิ้นส่วน แหวนหรือโอริงกันน้ำมันฉีกขาด ใส่กลับทาง ใส่ไม่ครบ แต่ถ้าเกิดจากการใช้งานมานานแล้วยังไม่เคยผ่านการซ่อมมาก่อน อาจจะเกิดจากการรั่วซึมภายใน ก็ต้องผ่าเกียร์ เปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหาย
- ออกตัว ต้องเร่งเครื่องใช้รอบสูงๆ
อาการนี้เกิดขึ้นแม้ว่าจะวอร์มเครื่องก่อนออกรถแล้วก็ตาม แก้ไขโดยตรวจระดับน้ำมันเกียร์และคุณภาพของน้ำมันเกียร์ ถ้าน้ำมันเกียร์ถูกต้อง มักเกิดจากผ้าคลัตช์ในชุดเกียร์สึกหรอเสื่อมสภาพ แก้ไขโดยการยกเกียร์ผ่าเกียร์ เปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง
- เหยียบคันเร่งแรงๆ บ่อยๆ จะทำให้เกียร์พังได้ไวกว่าที่กำหนด ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนี้
- ใส่เกียร์ว่างขณะรถวิ่ง ถ้าคุณใส่เกียร์ว่างขณะรถกำลังวิ่งอยู่ จะส่งผลให้น้ำมันหล่อลื่นในเกียร์ลดลง จนขาดแรงดัน ทำให้รถเกิดความร้อนสูง และเกียร์พังในที่สุด
- ใช้เกียร์ P ทั้งๆ ที่รถยังไม่นิ่ง การกระทำเช่นนี้จะส่งผลกับระบบเกียร์โดยตรง เพราะชุดเกียร์ทำงานโดยการล็อคตัวเองอัตโนมัติ จนส่งผลทำให้เกียร์พังได้
แนวทางการบำรุงรักษา
- หมั่นเช็กสภาพเกียร์อยู่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะหากเจอสิ่งผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ไม่ลุกลาม
- เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตามระเวลาที่กำหนด จะช่วยถนอมเกียร์ให้ใช้งานได้นาน โดยควรเปลี่ยนเมื่อรถวิ่งครบ 4-6 หมื่น กิโลเมตร หรือตามที่คู่มือกำหนด
- ไม่เร่งเครื่องแรง เมื่อทำการสตาร์ทรถ เพราะจะทำให้ระบบเกียร์พังได้ง่าย และอาจลุกลามไปถึงระบบเครื่องยนต์เสียหายได้ด้วย
- ไม่ขับแบบกระชาก เพราะอาจทำให้เกียร์เกิดความเสียหายได้
และทั้งหมดนี้คือคำแนะนำเบื้องต้นครับ หากรถยนต์ของท่านใดเริ่มมีอาการดังกล่าว อย่านิ่งนอนใจครับ รีบซ่อมแซมตั้งแต่เนิ่นๆ อาจเสียเงินแค่เล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยให้ปัญหาลุกลามบานปลายอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่ ซึ่งราคาเกียร์ก็โหดเอาเรื่องเหมือนกันนะครับ
เครดิต www.autospinn.com