คำถามที่ว่า รถหายในคอนโด แล้วใครจะเป็นคนรับผิด? คงจะเป็นคำถามที่หลายๆ คน ค้างคาใจกันมากที่สุด! เพราะบางคำตอบก็บอกว่า นิติบุคคลต้องเป็นคนรับผิดชอบ บางคำตอบก็บอกว่าตัวเจ้าของรถเองนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ เรียกได้ว่ามีหลากหลายคำตอบจนทำให้หลายๆ คน เกิดความสับสน ว่าสรุปแล้วใครกันแน่ที่จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ
หากรถแสนรักของเราเกิดหายไปในขณะที่จอดอยู่ในคอนโด? เพราะฉะนั้นในบทความนี้เราจะพาคุณไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน ว่าแท้ที่จริงแล้ว เมื่อเกิดเหตุรถหายภายในคอนโดผู้ที่รับผิดชอบตัวจริงนั้นคือใคร ? เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา คุณจะได้นำรายละเอียดที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ไปเป็นแนวทางในการดำเนินเรื่องนั่นเอง!
กรณีที่ 1 ทางนิติบุคคลไม่ต้องรับผิดชอบ
หากทางนิติบุคคลของคอนโด “ไม่ได้มีข้อบังคับหรือจัดการให้รถยนต์ของผู้พักอาศัยจะต้องติดสติ๊กเกอร์หรือแลกบัตร” ในกรณีนี้ “ทางนิติบุคคลไม่ต้องรับผิดชอบหรือชดใช้ใดๆ ทั้งสิ้น”
โดยศาลเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3088/2557 โดยเหตุผลในคำพิพากษา ได้กล่าวไว้ว่า
“นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินของบุคคลผู้พักอาศัยในอาคารชุดแต่อย่างใด การจอดรถ ไม่ต้องมอบกุญแจ ไม่ต้องแลกบัตร รวมทั้งไม่มีสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุด จ้างบริษัท รปภ. มาดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลผู้พักอาศัยในอาคารชุด ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จ เมื่อนิติบุคคล บริษัท รปภ. และ รปภ. เองไม่มีหน้าที่ในการดูแลรักษารถยนต์ ที่ประกันไว้กับบริษัท การที่รถยนต์ดังกล่าวสูญหายไป เพราะถูกโจรกรรม จึงมิใช่เป็นความรับผิดของนิติบุคคล บริษัท รปภ.และ รปภ.”
อีกทั้งยังเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 2369/2557 โดยเหตุผลในคำพิพากษา ได้กล่าวไว้ว่า
“นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคล มีเพียงหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกัน” ส่วนสัญญาว่าจ้างรปภ. ที่ทางนิติฯว่าจ้างรักษาความปลอดภัยก็มีข้อความระบุชัดเจนว่า ” รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น ” จึงไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ด้วย เงินที่ว่าจ้างรปภ. ก็มาจากเงินค่าส่วนกลางที่จ่ายโดยเจ้าของร่วมทุกคน มิใช่เงินส่วนตัวของทางนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงผู้บริหารจัดการ
แทนเจ้าของร่วมในการว่าจ้าง รปภ.ดังนั้นนิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายต่อโจทก์เจ้าของรถ”
สรุปแล้วในกรณีที่ 1 บริษัทประกันภัย(ที่เจ้าของรถได้ทำเอาไว้) จะต้องรับผิดชอบ โดยในส่วนนี้ทางบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเสียหายไปตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ให้กับเจ้าของรถ
กรณีที่ 2 ทางนิติบุคคลต้องรับผิดชอบ
หากทางนิติบุคคลของคอนโด ได้กำหนดระเบียบไว้อย่างเข้มงวดว่า “ต้องมีบัตรผ่านเข้าออก หากไม่มีก็จะต้องทำการแลกบัตร หรือแจ้งชื่อ ที่อยู่ ระบุเลขที่ต้องการติดต่อไว้” ในกรณีแบบนี้หากเกิดเหตุรถหายขึ้นมา ทางนิติบุคคลจะต้องรับผิดชอบ (รับผิดชอบร่วมกับบริษัทรักษาความปลอดภัย)
โดยศาลเคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 5259/2551 โดยเหตุผลในคำพิพากษา ได้กล่าวไว้ว่า
“รถยนต์ของโจทก์ ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุดติดหน้ากระจกรถยนต์ ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตร หรือให้แจ้งชื่อที่อยู่ ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุด คืนเกิดเหตุ พนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุด เห็นแล้วว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์ผ่านเข้าออกอาคารชุด มิให้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตร หรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบ กลับปล่อยให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านออกไป อันเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยบกพร่องของพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นการประมาทเลินเล่อ กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นนายจ้างของพนักงานรักษาความปลอดภัย จึงต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย”
สรุปแล้วในกรณีที่ 2 นิติบุคคลของคอนโดและบริษัทรักษาความปลอดภัยจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากมีรถยนต์ที่ไม่มีบัตรผ่านหรือปล่อยให้รถที่ไม่มีบัตรออกไปได้ เท่ากับเป็นความผิดพลาดและประหม่าของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งทางบริษัทรักษาความปลอดภัยจะต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมกับทางนิติบุคลคอนโดที่เป็นผู้ว่าจ้างนั่นเอง
รายละเอียดที่เรากล่าวไปข้างต้น คงพอจะช่วยให้คุณได้คำตอบแล้วใช่ไหมล่ะว่า “สรุปแล้วเมื่อรถหายในคอนโด ใครกันแน่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” ทั้งนี้คุณจะเห็นได้ว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยที่ทางนิติบุคคลได้ตั้งขึ้นมา เป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้วัดได้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุรถหาย ดังนั้นการเลือกคอนโดเพื่ออยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่คุณจะต้องใส่ใจในรายละเอียดเป็นพิเศษนั่นเอง
เครดิต www.autospinn.com