หลายคนเมื่อหมดหนทางในการนำเงินมาชำระค่างวดรถยนต์ ก็ยอมปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไปขายทอดตลาด โดยหวังว่าหนี้ทั้งหมดจะหายไป แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ง่ายเช่นกัน เพราะยังมีอีก 3 ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมาหลังจากไฟแนนซ์ยึดรถ มีอะไรบ้าง?

1. ยึดรถไปแล้วแต่หนี้ไม่หมด

     การปล่อยให้รถถูกยึดเนื่องจากผ่อนส่งไม่ไหวนั้น หลายคนคิดว่าเป็นการปิดบัญชีหนี้ ซึ่งมีหลายกรณีที่พนักงานยึดรถให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนกับเจ้าของรถที่กำลังจะถูกยึด หรือให้สัญญาว่าจะไม่มารบกวนลูกหนี้อีกต่อไปหลังจากที่ยึดรถไปแล้ว ซึ่งมักเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะต่อจากนี้ไปจะกลายเป็นเรื่องระหว่างคุณและไฟแนนซ์โดยตรง หาใช่ธุระของพนักงานยึดรถอีกต่อไป

2. ขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง

     รถยนต์ที่ถูกยึดจะถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาหักล้างกับยอดหนี้ที่คงเหลือ แต่ในทางปฏิบัตินั้น รถจะถูกขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป (อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งหักค่าหัวคิวอีกเท่าไหร่ไม่รู้) นอกจากนั้น ใช่ว่ามูลค่าของรถที่ขายได้จะถูกนำมาหักลบกลบหนี้ทั้งหมด เพราะยังมีค่าดำเนินการต่างๆ อีกมากมายที่เราไม่เคยทราบมาก่อน ทำให้มูลค่าหนี้ที่นำมาหักล้างลดน้อยลงไปอีก

3. อาจถูกฟ้องร้องตามมาภายหลังได้

     หลังจากที่ไฟแนนซ์หักลบกลบหนี้เรียบร้อย ก็มักจะมียอดหนี้ส่วนที่เหลือที่ลูกหนี้ยังคงต้องชำระอีก ทีนี้ หากลูกหนี้ไม่สามารถนำเงินก้อนมาชำระได้ตามกำหนด ก็จะถูกไฟแนนซ์ฟ้องร้องตามมาภายหลังอีกที แม้ว่าจะไม่มีรถให้ใช้อีกแล้วก็ตาม

     ดังนั้น ก่อนซื้อรถยนต์ควรพิจารณาถึงความพร้อมให้รอบคอบเสียก่อน เพราะความเสียหายจากการปล่อยให้รถถูกไฟแนนซ์ยึดมันอาจมากมายกว่าที่คุณคิดครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

ฝาสูบใหม่ มาสด้า BT50 2.5 ของ ก็อตซิล่า (GZL) จะรอดหรือจะร่วง!?