เชื่อว่าเจ้าของรถหลายคนอาจเคยสงสัยว่าเลข 2 ของเกียร์อัตโนมัติ แท้จริงแล้วคืออะไร? มีไว้ใช้ในสถานการณ์ไหนบ้าง? เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ตำแหน่งเกียร์ 2 มีประโยชน์มากกว่าที่คิด

รถยนต์เกียร์อัตโนมัติบางรุ่นที่มีตำแหน่งเกียร์แปลกๆ เช่น 3, 2, 1 หรือ L นอกเหนือไปจากตำแหน่ง P R N D ที่คนใช้รถคุ้นเคยกันดี โดยตัวเลขที่ว่านี้ก็คือ “ตำแหน่งเกียร์สูงสุด” ที่เกียร์จะเปลี่ยนอัตราทดนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น หากอยู่ในตำแหน่งเกียร์ 2 จะหมายถึง รถจะเริ่มออกตัวด้วยเกียร์ 1 จากนั้นเมื่อได้ความเร็วก็จะเปลี่ยนเกียร์ 2 เป็นเกียร์สูงสุด โดยไม่ตัดไปเกียร์ 3 แต่อย่างใด

ขณะที่ตำแหน่งเกียร์ L ก็จะเทียบเท่ากับเกียร์ 1 นั่นเอง ซึ่งแปลว่ารถจะเดินหน้าด้วยเกียร์ 1 เท่านั้น โดยไม่มีการเปลี่ยนอัตราทดให้สูงขึ้นแตอย่างใด

ตำแหน่งเกียร์ 3, 2, 1 หรือ L มีประโยชน์อย่างไร?

หากเป็นการขับขี่ทั่วไปในชีวิตประจำวันควรใช้ตำแหน่งเกียร์ D เพื่อให้เกียร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และประหยัดน้ำมันมากที่สุด ขณะที่ตำแหน่งเกียร์ 3, 2, 1 หรือ L เหมาะสำหรับการขับขึ้น-ลงทางชัน เพราะสามารถเพิ่มพละกำลังของเครื่องยนต์ในขณะขึ้นเขา หรือเพิ่ม Engine Brake เพื่อช่วยชะลอความเร็วขณะลงเขาได้เช่นกัน

วิธีการใช้งานก็ง่ายมาก โดยหากขับรถขึ้นเนินเขาที่มีความลาดชันแล้วพบว่ากำลังเครื่องยนต์เริ่มไม่เพียงพอ สามารถผลักเกียร์มาที่ตำแหน่ง 2 หรือ 1 (หรือ L) ได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดรถ รอบเครื่องยนต์จะพุ่งสูงขึ้นตามอัตราทดที่เปลี่ยนไป ช่วยให้เครื่องยนต์มีพละกำลังมากขึ้น มีเรี่ยวแรงขึ้นทางชันได้ดีกว่าเดิม

ส่วนการขับรถลงเขาเป็นระยะทางไกลๆ หากใช้เบรกเพื่อชะลอความเร็วเพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เบรกเกิดความร้อนสูง หากยังคงเหยียบเบรกอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เกิดอาการเบรกเฟด (Brake fade) คือเบรกจะไม่สามารถชะลอความเร็วได้อีกต่อไป ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “เบรกจม” “เบรกหาย” หรือบ้างก็เข้าใจว่า “เบรกหมด” นั่นเอง

วิธีป้องกันอาการ Brake Fade ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้เกียร์ในการสร้าง Engine Brake ช่วยในการชะลอความเร็ว โดยผลักเกียร์มาที่ตำแหน่ง 3, 2 หรือ 1 (หรือ L) ขึ้นอยู่กับความเร็วของตัวรถในขณะนั้น เครื่องยนต์จะทำงานในรอบสูง เกิดเป็นแรงหน่วงเพื่อช่วยชะลอความเร็ว ยิ่งรอบเครื่องยนต์สูงมากเท่าไหร่ แรงหน่วงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น วิธีนี้จะช่วยลดการใช้เบรกลง ป้องกันไม่ให้ระบบเบรกร้อนจนเกินไป

เมื่อทราบเช่นนี้แล้วก็อย่าลืมนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดในการขับขี่ด้วยนะครับ

 

 

เครดิต www.sanook.com

 

BT50 ในตำนาน ฝาสูบมีอาการแบบนี้ เป็นอะไรกันแน่?? | แกะกล่อง DIY